“โรคอ้วนลงพุง” หรือโรคเมแทบอลิกดูแลกันอย่างไร ตอนที่ 1

“พุง” (Belly) ดูท่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปซะแล้ว เป็นปัญหาที่น่าจะใหญ่กว่าเรื่องของน้ำหนักตัวเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่นในคนที่เป็นโรคอ้วนหากอ้วนโดยไม่ลงพุงยังมีปัญหาน้อยกว่าคนไม่อ้วนแต่ลงพุง เรื่องนี้เห็นชัดเจนในกรณีรายงานทางระบาดวิทยาจากอินเดียที่ว่าชาวอินเดียบางส่วนที่มีพุงใหญ่ทั้งที่น้ำหนักตัวต่อส่วนสูงยังไม่จัดว่าอ้วน คนเหล่านี้มีอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงรวมทั้งอีกหลายโรคที่มักปรากฏในหมู่คนเป็นโรคอ้วน ขณะเดียวกันคนอ้วนพุงใหญ่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอ้วนสะโพกใหญ่ เรื่องพุงจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีประเด็นของโรคเมแทบอลิกหรือ metabolic syndrome เข้ามานักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งจึงตั้งชื่อเรียกโรคชนิดนี้ไว้ว่า “โรคอ้วนลงพุง” เพราะมักมีเรื่องอ้วนเฉพาะที่พุงปนเข้ามาด้วยกระทั่งกลายเป็นจุดเด่น

อันที่จริงโรคเมแทบอลิกหรืออ้วนลงพุงไม่ได้มีภาวะอ้วนบริเวณพุงเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติในเลือดทั้งไตรกลีเซอไรด์สูง คอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลสูงและชนิดเอชดีแอลต่ำ น้ำตาลสูงในเลือดพ่วงเข้ามาด้วย โรคที่มักจะตามมาคือโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานประเภทที่สอง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิต ไขมัน น้ำตาลในเลือด เป็นความผิดปกติที่มองไม่เห็นจากภายนอก เห็นชัดเจนกว่าใครเพื่อนคือพุงที่อ้วนกลม พุงใหญ่กว่าสะโพกเห็นแล้วก็รู้ทันทีว่าลงพุง นักวิชาการโภชนาการไทยจำนวนหนึ่งจึงนิยมเรียกโรคนี้ว่าอ้วนลงพุงอย่างที่บอก ส่วนผมขอเรียกทั้งสองชื่อเลยก็แล้วกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องเข้าใจพร้อมกันไปด้วยคือในเชิงวิชาการการเพื่อดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีนั้นเน้นย้ำไปที่เรื่องกลไกในร่างกายหรือเมแทบอลิซึมเป็นสำคัญ บ่อยครั้งเมแทบอลิซึมดีขึ้นแล้วเป็นต้นว่าความดันโลหิตลดลง สภาวะไขมันและอินสุลินในเลือดดีขึ้น ความเสี่ยงต่อเบาหวานและโรคหัวใจลดลงแต่พุงอาจจะยังไม่ยุบเลยก็ได้ จะบอกว่าปัญหาโรคอ้วนลงพุงยังคงอยู่ก็ไม่น่าจะถูก ดังนั้นลองไปดูดีกว่าโรคอ้วนลงพุงหรือโรคเมแทบอลิกมีความหมายจริงๆว่าอย่างไร

มีคำถามอยู่สองคำถามที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคอ้วนลงพุงหรือโรคเมแทบอลิก คำถามแรกคือแม้จะเห็นว่ามีพุงจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง คำถามที่สองคือเมื่อเป็นแล้วจะป้องกันหรือรักษาอย่างไร โดยไม่ต้องไปพูดกันถึงเรื่องยา เอากันที่เรื่องอาหารนี่แหละเพราะน่าจะง่ายและเป็นธรรมชาติมากกว่าการใช้ยาทั้งยังปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าแถมยังมีราคาถูกกว่ากันมากอีกต่างหาก การใช้อาหารในการป้องกันโรคน่าจะดีที่สุด #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคอ้วนลงพุง#โรคเมแทบอลิก