เทคนิคขจัดความกลัว

ข้อดีของความกลัวคือเป็นกลไกปกป้องเผ่าพันธุ์มนุษย์ หากกลัวมากเกินไปจากข้อดีจะกลายเป็นข้อเสีย อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน ดี รุสเวลต์ จึงเตือนไว้ว่าสิ่งที่ควรกลัวคือความกลัว อย่างไรก็ตามยังมีคนในโลกจำนวนหนึ่งที่นิยมใช้ธรรมชาติความกลัวของคนในการควบคุมคนอื่น หาหนทางที่จะสร้างอารมณ์กลัวให้เกิดในผู้คนที่ตนเองต้องการควบคุม ใครที่ต้องการมีชีวิตอิสระจึงควรหาวิธีควบคุมความกลัวไว้บ้าง จะใช้ยาก็คงไม่เหมาะเพราะยาทำงานได้ชั่วครั้งชั่วคราว เหตุนี้เองจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มให้ความสนใจศึกษากลไกการทำงานของอารมณ์กลัว เพื่อให้คนทั่วไปควบคุมอารมณ์กลัวไว้ได้

ดร.อลิซาเบธ เฟลพ์ (Elizabeth Phelps) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา พบว่าความกลัวเป็นกลไกที่เกิดจากระบบการเก็บความทรงจำของสมองมนุษย์ ใครจะกลัวอะไร สมองต้องบันทึกประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวให้ได้เสียก่อน เมื่อบันทึกเรียบร้อยแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์ผ่านประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่เคยถูกบันทึกไว้ อารมณ์กลัวจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ดร.เฟลพ์พบว่าหากทำให้ความกลัวไม่ถูกบันทึก หรือหาทางเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะถูกบันทึกไว้ให้บิดเบี้ยวไปสักหน่อย อารมณ์กลัวจะเปลี่ยนแปลงไป ความกลัวย่อมไม่เกิดขึ้น งานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ตอนปลาย ค.ศ. 2009 ลองไปดูกันหน่อย

ดร.เฟลพ์ใช้อาสาสมัครสองกลุ่มที่ถูกสร้างให้เกิดอารมณ์กลัวภาพสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน เห็นภาพนี้เมื่อไหร่เป็นต้องถูกไฟฟ้าช็อตเมื่อนั้น ทดสอบไปสักพักอาสาสมัครเริ่มเกิดอาการกลัว เห็นสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินเมื่อไหร่เป็นต้องตกใจเหมือนเห็นผี ดร.เฟลพ์ทราบว่ากลไกการบันทึกความกลัวเข้าสู่สมองเกิดขึ้นในช่วงเวลาสิบนาทีหลังจากได้รับประสบการณ์ที่สร้างความกลัว ด้วยเหตุนี้ในอาสาสมัครกลุ่มแรก นักวิจัยรอให้ถึงสิบนาทีแล้วจึงแสดงภาพสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินอีกครั้งแต่ครั้งใหม่นี้ไม่มีการช็อตไฟฟ้าซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับระบบการบันทึกในสมองของอาสาสมัคร ในขณะที่อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องไปทำอะไร ปล่อยให้สมองบันทึกประสบการณ์น่ากลัวเกี่ยวกับสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินไว้ไม่มีการสร้างความสับสน นั่นคือเห็นสี่เหลี่ยมเมื่อไหร่เป็นถูกไฟฟ้าช็อตทุกครั้ง

หนึ่งปีต่อมาดร.เฟลพ์นำอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มกลับมาทดสอบอีกครั้ง อาสาสมัครกลุ่มแรกเมื่อเห็นสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินไม่แสดงอาการหวาดกลัวใดๆออกมาในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่สองแสดงอาการหวาดกลัวออกมาอย่างเด่นชัด แสดงว่าความกลัวเป็นผลจากการบันทึกประสบการณ์ไว้ในสมองจริง หากไม่ต้องการให้เกิดความกลัวจะต้องหาทางรบกวนกลไกการบันทึกในสมองที่ว่านั้นให้ได้ ดังนั้นหากเจอะเจอสิ่งใดที่ทำให้เกิดอารมณ์กลัว ภายในเวลาสิบนาทีต้องหาประสบการณ์อื่นมายับยั้งไม่ให้อารมณ์กลัวถูกบันทึกไว้ เทคนิคทางจิตวิทยาง่ายๆอย่างนี้อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อน จากนั้นคงต้องฝึก เมื่อฝึกได้อย่างนี้บ่อยเข้าความกลัวจะค่อยๆหายไป ทีหลังจะไม่กลัวอะไรอีกแล้ว #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#อารมณ์กลัว