การทำงานของฮอร์โมนอินสุลินกับการละหมาดและการถือศีลอด ตอนที่ 1

อิสลามสอนให้ตั้งคำถาม (Tahqeek) ในฐานะมุสลิมช่วงการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน พวกเราตื่นเพื่อกินอาหารมื้อแรกที่เรียกว่าสะฮูร (Sahur) ในเวลาตีสามถึงตีสี่ โดยกำหนดให้สะฮูรเสร็จสิ้นก่อนเวลา “อิมซ้าก” อันเป็นเวลาก่อนแสงทองจับท้องฟ้า (ฟัจริ) ซึ่งเกิดขึ้นประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น (ชูรุฆ) จากอิมซ้ากถึงฟัจริกินเวลาประมาณ 4 นาที คำถามคือทำไมต้องอิมซ้าก อีกคำถามหนึ่งคือทำไมการละหมาดจึงเกิดในช่วงไม่มีแสงมากกว่ามีแสงทั้งในรอมฎอนและนอกรอมฎอน เป็นคำถามเชิงเมแทบอลิซึมทั้งสองคำถาม จนเวลานี้นั่นแหละจึงเริ่มเข้าใจ คำอธิบายเฉพาะเหตุผลทางการแพทย์คือทั้งการถือศีลอดและการละหมาดเกี่ยวข้องกับการทำงานของอินสุลิน จะเข้าใจเรื่องนี้ได้จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนาฬิกาชีวิตพร้อมกันไปด้วย

ค.ศ.2010 Bass J แห่งคณะแพทยศาสตร์ University of Northwestern รัฐอิลลินอยส์ และทีมงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Nature ว่าด้วยเรื่องราวของยีน (Gene) จำนวนนับร้อยที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีนภายในตับอ่อน (Pancreas) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนอินสุลิน (Insulin) งานวิจัยกล่าวถึงบทบาทของนาฬิกาชีวิต (Circadian clock) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า Ventromedial Hypothalamic nucleus (VMH) ภายในสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) สมองส่วนนี้ทำหน้าที่สำคัญหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมศูนย์อิ่ม (Satiety Center) ของร่างกาย

นาฬิกาชีวิตนอกจากในสมองยังพบในอวัยวะต่างๆรวมถึงตับอ่อนซึ่งมีเบต้าเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินสุลิน โดยอินสุลินทำหน้าที่ร่วมกับโปรตีนต่างๆหลายชนิดที่ทำหน้าที่ควบคุมกลไกอันซับซ้อนของอินสุลิน นาฬิกาชีวิตเกี่ยวข้องกับความว่องไวในการทำงานของอินสุลิน (Insulin sensitivity) ปัจจัยที่มีอิทธิพลมีทั้งช่วงเวลาของวัน ช่วงมีแสงและไม่มีแสง ช่วงกินและช่วงอดอาหาร ช่วงพักและทำงาน ชนิดของเซลล์และเนื้อเยื่อ รวมไปถึงระดับและความเร็วของการเพิ่มกลูโคสในเลือด ใน ค.ศ.2013 Shi SQ และคณะแห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt รัฐเทนเนสซี ทำวิจัยในหนูทดลองตีพิมพ์ในวารสาร Curr Biol สรุปว่าการมีแสงและไม่มีแสงมีผลต่อนาฬิกาชีวิต เช่นมนุษย์ช่วงมีแสง อินสุลินจะเหนี่ยวนำให้เผาผลาญกลูโคสเพื่อสร้างพลังงานนำไปใช้ในการทำงาน ขณะที่ช่วงไม่มีแสง อินสุลินจะเหนี่ยวนำให้การเผาผลาญกลูโคสนำไปสู่การสะสมพลังงานในรูปไขมันมากกว่า

วารสาร Cell Reports ค.ศ.2019 Aras E และคณะจาก University of Geneva (UNIGE) สวิตเซอร์แลนด์ พบว่าความว่องไวของอินสุลินสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีแสงและไม่มีแสง ทั้งนี้การตอบสนองต่อแสงที่เกิดขึ้นในเรตินาของดวงตา ตลอดจนแสงของวันแม้น้อยนิดมีผลต่อการรับรู้ของเซลล์ VMH ในสมองส่งผลต่อการปรับกลไกการทำงานของอินสุลิน สรุปได้ว่านาฬิกาชีวิตมีผลต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจในกลไกการทำงานของนาฬิกาชีวิตจะส่งผลต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และอีกหลายโรค น่าสนใจอย่างยิ่งหากนำความรู้ทั้งหมดนี้ไปอธิบายคำถามทั้งสองข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดและการถือศีลอด #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#อินสุลินกับการละหมาดและการถือศีลอด