“โรคอ้วนลงพุง” หรือโรคเมแทบอลิกดูแลกันอย่างไร ตอนที่ 2

โรคอ้วนลงพุงดูกันง่ายๆที่ขนาดของพุง หากเป็นผู้ชายขนาดเส้นรอบเอวใหญ่กว่าเส้นรอบสะโพกแสดงว่ามีพุงแล้ว ส่วนคุณผู้หญิงไม่ต้องถึงขนาดเอวใหญ่กว่าสะโพกหรอก เอาแค่เส้นรอบเอวใหญ่เท่ากับเส้นรอบสะโพกก็ถือว่ามีพุงเหมือนกัน เครื่องมือที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นสายวัดให้สิ้นเปลืองใช้แค่เชือกธรรมดาก็ได้ ลองวัดกันดูว่าที่พุงและสะโพก เอาเส้นรอบพุงหารด้วยเส้นรอบสะโพกหากมากกว่าหนึ่งสำหรับชายแสดงว่ามีพุง หากเท่ากับหนึ่งหรือมากกว่าสำหรับหญิงนั่นก็มีพุง จะให้ง่ายกว่านั้นสำหรับคนไทยคือผู้ใหญ่เพศชายมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้วและหญิงที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว แสดงว่ามีพุงเช่นเดียวกัน ง่ายขึ้นไปอีกคือคนที่เป็นชายลองยืนให้ตัวตรงคอตรงแล้วลองเหลือบตามองนิ้วเท้า หากมองไม่เห็นแสดงว่าพุงบังอยู่ สำหรับคุณผู้หญิงแค่ดูกระจกก็น่าจะรู้ว่ามีพุงหรือเปล่า อย่าเข้าข้างตัวเองก็แล้วกัน

เมื่อพบว่ามีพุงยังไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคอ้วนลงพุงหรือโรคเมแทบอลิกต้องดูว่ามีพารามิเตอร์ร่วมเพิ่มขึ้นอีกสองพารามิเตอร์หรือเปล่า นั่นคือมีปัญหาความดันโลหิตมากกว่า 85/130 มม.ปรอท และหรือมีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และหรือมีระดับเอชดีแอลน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับชายหรือน้อยกว่า 40 สำหรับหญิง อีกข้อหนึ่งคือมีระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมีปัญหาที่ว่านั้นเกินสองข้อร่วมกับการมีพุง แสดงว่าเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว เหตุที่อ้วนลงพุงสร้างปัญหาก็เนื่องจากการอ้วนส่วนเอวถือว่ามีไขมันในช่องท้องมากเกินไป จะสร้างปัญหาด้านการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกตินำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมา เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ยิ่งพุงใหญ่ ยิ่งตายเร็วว่ากันอย่างนั้น เอวที่เพิ่มขึ้นทุก 5 เซ็นติเมตร สร้างปัญหาเบาหวานมากขึ้น 3-5 เท่า ไขมันสะสมในพุงมาก ทำให้ในเลือดเกิดกรดไขมันอิสระสูงขึ้น กรดเหล่านี้เข้าสู่ตับมากขึ้นกระทั่งสร้างปัญหา ทั้งเกิดภาวะยิ่งดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ผลที่ตามมาคือน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงขึ้น ภาวะเหล่านี้เองที่เป็นปัญหา ในที่สุดก็เกิดโรคอ้วนลงพุง

จะหาทางรักษาหรือป้องกันอย่างไร นักวิจัยทางโภชนาการหลายมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยและได้ข้อสรุปกระทั่งกลายเป็นข้อแนะนำมากมายหลายข้อ ข้อแนะนำบางข้อเป็นผลมาจากงานวิจัยที่ทำกันมานานจนปัจจุบันความรู้ด้านโภชนาการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำกันใหม่ หากเป็นแต่ก่อนใครที่อ้วนนักโภชนาการและแพทย์จะแนะนำให้ลดไขมันเป็นหลัก เหตุผลคือไขมันให้พลังงานมากกว่าแป้งและโปรตีนถึงสองเท่า แต่วิชาการในปัจจุบันคำแนะนำที่ว่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นักวิชาการด้านโภชนาการยุคใหม่ไม่ได้มองไขมันว่าเป็นปัญหาเหมือนนักวิชาการในยุคเก่า #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคอ้วนลงพุง#โรคเมแทบอลิก