“โรคอ้วนลงพุง” หรือโรคเมแทบอลิกดูแลกันอย่างไร ตอนที่ 4

ปิรามิดโภชนาการหรือปิรามิดอาหาร (Food Pyramid) นำเสนอโดยกระทรวงเกษตรอเมริกันหรือ USDA ตั้งแต่ ค.ศ.1992 มาถึงวันนี้ถูกปรับเปลี่ยนหน้าตาไปมาก รูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นปิรามิดรูปแบบใหม่ที่นำเสนอโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา โครงสร้างปิรามิดโภชนาการที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือศาสตราจารย์นายแพทย์วอลเตอร์ วิลเลตต์ (Walter C. Willette) และแพทริก สเกอร์เรตต์ (Patrick J. Skerrett) นำเสนอปิรามิดที่ว่านี้ตั้งแต่ ค.ศ. 2005

เข้าใจได้ง่ายกว่ารูปแบบปิรามิดคือการแนะนำในรูป “จานโภชนาการ” หรือ Healthy Eating Plate ซึ่งทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดแนะนำออกมาเช่นเดียวกัน เป็นรูปจานอาหารซึ่งแนะนำให้ตักอาหารลงจานโดยมีสัดส่วนดังนี้ ผักและผลไม้เป็นครึ่งหนึ่งของจานโดยมีผักมากกว่าผลไม้ แนะนำให้เป็นผักหลากสีหลากกลิ่นหลากรส อีกครึ่งหนึ่งเป็นธัญพืชขัดสีต่ำกับโปรตีนปริมาณเท่ากัน โดยเป็นโปรตีนจากปลา เป็ดไก่ที่เลาะหนังออก ถั่วเมล็ดแห้งและนัท ส่วนเนื้อแดงให้เหลือน้อยลง หากเป็นเนื้อปรุงประเภทแฮม เบคอน ไส้กรอก แหนม ไส้อั่ว เลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยง

แนะนำให้ดื่มน้ำให้มาก เลี่ยงน้ำอัดลม น้ำหวานน้ำตาล ชากาแฟอย่าเติมน้ำตาลให้มากนัก นมและผลิตภัณฑ์นมบริโภคให้พอเหมาะ ส่วนการปรุงอาหารนั้นแนะนำให้ใช้ไขมันชนิดที่ดีอย่างน้ำมันพืชที่ไม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือไขมันอิ่มตัวมากเกินไป เลี่ยงการใช้เนยหรือมาร์จารีน เรื่องจานโภชนาการนี้ นักโภชนาการไทยดูจะตามกระแสได้ทันโดยแนะนำให้ตักอาหารใส่จานมีผักผลไม้เป็นหลักอย่างน้อยก็ครึ่งจานส่วนที่เหลือเป็นข้าวและโปรตีน คำแนะนำส่วนใหญ่เป็นแบบที่ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแนะนำ

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกนสหรัฐอเมริกานำโดย ดร.โจเซฟ คาร์ลสัน (Joseph Carlson) ภาควิชาโภชนาการเพื่อการกีฬาและโรคหัวใจ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Dietetic Association ปลาย ค.ศ.2011 ดูจะให้ข้อมูลที่ค่อนข้างน่าสนใจ แถมด้วยคำแนะนำที่ดูจะชัดถ้อยชัดคำดีว่าหากจะลดปัญหาโรคเมแทบอลิกขอให้เน้นไปที่อาหารประเภทที่มาจากพืชผักเป็นหลัก ให้มีสารอาหารครบถ้วน ใยอาหารให้มากหน่อย ส่วนอาหารประเภทคอเลสเตอรอลสูง ไขมันสูง ไม่ต้องไปเน้นแล้วว่าต้องจำกัดอย่างที่เคยทำกันในอดีต เพราะข้อมูลที่ผ่านมาอาหารสองประเภทหลังนี้ไม่ได้สร้างปัญหามากมายอย่างที่เคยเข้าใจกัน

เดิมทีนักโภชนาการเน้นไปที่การลดการบริโภคไขมันให้เหลือน้อยที่สุด จำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลลงอันเป็นผลให้ไข่ไก่ถูกลดลำดับความสำคัญลงไปมาก ไข่ที่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกกลายเป็นอาหารอันตรายในยุคหนึ่งหากจำกันได้ เพราะไข่มีคอเลสเตอรอลสูง กว่าความเข้าใจผิดนี้จะหายไป ไข่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ถึงวันนี้ นักโภชนาการหลายชาติออกมายืนยันกันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไข่ไม่ได้เป็นปัญหา ทั้งไขมันเองก็ไม่ใช่ประเด็น #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#โรคอ้วนลงพุง#โรคเมแทบอลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *