เวลาในขวดแก้ว

“เวลาในขวดแก้ว” (Time in a bottle) ผมเห็นชื่อนี้ครั้งแรกเมื่อยังเป็นเด็กนักเรียนจากเพลงของจิม โครช (James Croce 2486-2516) ประพันธ์ไว้ใน พ.ศ.2513 โครชทิ้งงานดนตรีมานานกระทั่งทราบว่าภรรยาตั้งครรภ์จึงหันกลับมาแต่งเพลงและเล่นดนตรีสไตล์คันทรีอีกครั้ง ด้วยหวังว่าดนตรีจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่ครอบครัว น่าเสียดายจิม โครช เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 30 ปีจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกระหว่างเดินทางเล่นดนตรีตามสถานที่ต่างๆทั่วสหรัฐอเมริกา ดนตรีปลุกชีวิตจิม โครช ขึ้นมาแล้วกลับนำเขาไปสู่จุดจบความไพเราะในเนื้อหาและทำนองของเพลงสร้างความประทับใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลก ถึง พ.ศ.2528 ประภัสสร เสวิกุล ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ประพันธ์นวนิยายชื่อ “เวลาในขวดแก้ว” สะท้อนชีวิตและปัญหาของวัยรุ่นโด่งดังกระทั่งสร้างเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ.2534 ผมทั้งฟังเพลงทั้งอ่านนวนิยาย ประทับใจกับชื่อเวลาในขวดแก้วตลอดมากระทั่งได้ฟังเรื่องราวของคำว่าเวลาในขวดแก้วอีกครั้งในรูปเรื่องสั้น ผู้ประพันธ์คือใครไม่ทราบ เป็นชนเชื้อชาติไหนไม่รู้ ทว่าบทประพันธ์ช่วยให้ผู้คนเข้าใจความหมายของคำว่าเวลาในขวดแก้วมากยิ่งขึ้น เรื่องเกิดขึ้นในชั้นเรียน ครูเดินเข้าห้องพร้อมอุ้มขวดแก้วใสใบโตเข้ามาด้วย มืออีกข้างถือถุงใบใหญ่ ครูวางขวดแก้วลงบนโต๊ะ ก่อนหยิบถุงขนาดพอประมาณสามถุงออกจากถุงใหญ่ เปิดถุงใบแรกบรรจงหยิบหินออกจากถุงค่อยๆเทหินลงในขวดแก้วจนเต็ม หันมาถามนักเรียนว่าขวดเต็มแล้วใช่ไหม เมื่อนักเรียนตอบพร้อมกันว่าใช่ ครูเปิดถุงใบที่สองหยิบกรวดออกจากถุงก่อนโรยลงในขวด กรวดลัดเลาะลงตามช่องว่างของหินกระทั่งถึงก้นขวด ครูค่อยๆเติมกรวดลงในขวดจนเต็ม หันมาถามนักเรียนว่าขวดเต็มแล้วใช่ไหม นักเรียนตอบพร้อมกันว่าใช่ครูเปิดถุงใบที่สามซึ่งคือทรายก่อนเทลงขวด ทรายเม็ดเล็กไหลลัดเลาะลงตามช่องหินและกรวดจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง สักพักทรายก็เต็มขวด ครูถามอีกครั้งว่าขวดเต็มแล้วใช่ไหม นักเรียนตอบว่าใช่ ครูจึงเริ่มอธิบายว่าขวดแก้วคือเวลาที่เรามีอยู่ในชีวิต หินเสมือนเรื่องราวสำคัญ ทั้งการศึกษา หน้าที่การงาน ครอบครัว อนาคต กรวดเสมือนเรื่องราวที่สำคัญรองลงมา ทั้งการใช้ชีวิต การสร้างประโยชน์แก่ครอบครัวและสังคม รวมถึงงานอดิเรก ส่วนทรายคือสิ่งสัพเพเหระ การปล่อยทิ้งเวลาที่ไม่ให้ประโยชน์รวมถึงคำติฉินนินทาผู้อื่นที่หาแก่นสารไม่ได้หากนักเรียนใช้เวลาไปกับการเททรายลงในขวด สุดท้ายย่อมหาช่องว่างที่จะเทหิน เทกรวดที่มีความสำคัญลงในขวดไม่ได้ นักเรียนจึงต้องรู้วิธีเรียงลำดับความสำคัญในชีวิต การใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เวลาเมื่อหมดไปแล้วไม่หวนคืนมาอีก จะใช้เวลาอย่างไร มีสาระหรือไม่ขึ้นกับนักเรียนแต่ละคน ได้ฟังเรื่องเวลาในขวดแก้วแล้วบอกตามตรงว่าเห็นสัจธรรมของชีวิตขึ้นมาทันที #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #เวลาในขวดแก้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *