ความลับที่มนุษย์ไม่รู้จากกรณีโยโย่หลังถือศีลอดเดือนรอมฎอน

เจอคำถามจากแฟนเพจหลายคนทำนองว่าถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอนต่อด้วยหกวันในเดือนเชาวัลเหตุใดน้ำหนักตัวไม่ลด ขอตอบตามหลักโภชนาการก่อน การถือศีลอดไม่นับเป็นการลดอาหารโดยเป็นเพียงเปลี่ยนมื้ออาหาร จากเคยกินสามมื้อ เช้า กลางวัน เย็น เป็นมื้อก่อนเช้ากับมื้อเย็นอาจแถมมื้อดึกพ่วงเข้าไปอีก พลังงานที่ได้รับต่อวันไม่ลดลง ทั้งการกินยามค่ำคืน อินสุลินยังเหนี่ยวนำให้เพิ่มการสะสมพลังงานในรูปไกลโคเจนและไขมันมากขึ้น ถือศีลอดไม่ถูกวิธีนอกจากน้ำหนักตัวไม่ลดแล้วยังอาจอ้วนเพิ่มขึ้นไปอีก นี่คือคำตอบแบบง่ายๆ หากอยากได้คำตอบที่ยากไปกว่านั้น ลองฟังจากทีมวิจัยชาวเยอรมันกันดีกว่าดร.เฮนนิง เฟนเซเลา (Henning Fenselau) และทีมงานแห่งสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยเมแทบอลิซึม (the Max Planck Institute for Metabolism Research) เยอรมนีร่วมกับทีมคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยในหนูทดลองที่อดอาหารโดยตรวจวิเคราะห์การรับส่งสัญญาณจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่เกี่ยวข้องกับจุดควบคุมความอิ่ม (Satiety receptor) นำผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism เดือนมีนาคม ค.ศ.2023 เนื้อหาน่าสนใจสรุปออกมาเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดการอดอาหารที่แม้เลิกอดแล้วน้ำหนักตัวนอกจากไม่ลดยังกลับเพิ่มขึ้นอีก ที่เรียกว่าโยโย่ (Yo-yo effect) นั่นแหละดร.เฟนเซเลาอธิบายว่าคนทั่วไปมักมองผลกระทบระยะสั้นหลังอดอาหาร ในเชิงวิชาการต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในสมองระยะยาว นักวิจัยให้หนูทดลองอดอาหารต่อเนื่องจากนั้นประเมินว่าวงจรใดในสมองเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเซลล์ประสาทของสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่เรียกกันว่า AgRP ซึ่งควบคุมความอิ่ม สิ่งที่พบคือเมื่อหนูอดอาหารต่อเนื่อง สัญญาณกระตุ้นเซลล์ประสาท AgRP ในกลไกที่เรียกว่า synaptic plasticity เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้หนูกินอาหารมากขึ้นเป็นการชดเชย เมื่อหนูเลิกอดอาหารแล้ว การส่งสัญญาณที่ว่านี้ยังคงเพิ่มอีกระยะหนึ่ง หนูจึงยังกินอาหารมากขึ้นหลังเลิกอดอาหาร เป็นที่มาของปัญหาโยโย่หากต้องการป้องกันปัญหาโยโย่ ลองปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งนักวิจัยชาวอิสราเอลอย่างนายแพทย์แม็กซิโม เมสลอส ยืนยันว่าได้ผล นั่นคือช่วงถือศีลอด ท่านนบีทำงานใช้แรงงานเหมือนเดิมทั้งยังลดปริมาณอาหารลงในเดือนรอมฎอนเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานต่อวันน้อยลง นอกจากนี้ยังใช้พลังงานมากขึ้นจากการละหมาดยามค่ำคืนซึ่งมากกว่าเดือนปกติ อย่างการละหมาดตะรอเวียะฮฺ การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น รับพลังงานลดลง กลายเป็นการยับยั้งกลไกชดเชยที่ถูกสั่งการจากสมอง นี่คือความมหัศจรรย์จากการถือศีลอดที่พวกเราไม่เคยรู้ “(อัลลอฮฺ) ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” อัลอะลัก 96:5 #drwinaidhlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โยโย่หลังอดอาหาร, #ถือศีลอดเดือนรอมฎอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *