ตะฮันนุช (Tahunnuth) ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กับการถือศีลอด

“(นบี) อิบรอฮีมไม่ใช่ยะฮูดี (يهودي ยิว) ไม่ใช่นัสรอนี (نصراني คริสต์) ทว่าคือฮะนีฟ (حنيف หันสู่ความจริง) มุสลิม (مسلم ผู้ศิโรราบต่ออัลลอฮฺ) และไม่ใช่มุสริกีน (مشركين ผู้ตั้งภาคี)” อาละอิมรอน 3:67 อัลกุรอานวรรคนี้ระบุคำว่าฮะนีฟไว้ ฮะนีฟคือความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่ากุเรซบางกลุ่มในทะเลทรายอาระเบีย นักวิชาการอิสลามบางท่านระบุว่าฮานีฟคืออิสลามตามแนวทางท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสลาม) ซึ่งมาก่อนท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) สองพันปี ฮะนีฟที่ถือปฏิบัติกันในพื้นที่ฮิจาซของอาระเบียก่อนอิสลามนั้น มีการปฏิบัติตะฮันนุช (تحنث Tahunnuth) ที่หมายถึงการปลีกวิเวก แยกตัวออกจากบาปทั้งปวงรวมอยู่ด้วยก่อนการมาของอิสลาม มีบันทึกว่าอับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่านนบีปฏิบัติตะฮันนุชตลอดเดือนรอมฎอนทุกปี วิธีการคือปลีกวิเวกไปที่ถ้ำเล็กๆชื่อหิรออฺใกล้เมืองมักกะฮฺ เมื่อถึงสมัยท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ท่านปฏิบัติเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่สิบปีก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นนบี โดยนำเสื้อผ้าและอาหารขึ้นไปปลีกวิเวกที่ถ้ำหิรออฺ อาหารหมดจึงกลับบ้านก่อนย้อนไปที่ถ้ำหิรออฺอีกครั้ง บางครั้งนางคอฎียะฮฺ (ร.ฎ.) ภริยาของท่านนำอาหารและเสื้อผ้าขึ้นไปส่งแนวทางปฏิบัติตะฮันนุชมีบันทึกไม่ชัดเจน บ้างว่ามีการถือศีลอด งดเว้นการกินการดื่มตลอดทั้งวัน นั่งหรือยืนสมาธิเป็นเวลานาน ผินหน้าไปทางวิหารกะอฺบะฮฺในเมืองมักกะฮฺ พ้นรอมฎอนแล้วจึงเดินทางเข้ามักกะฮฺ เดินฏอวาฟรอบวิหารกะอฺบะฮฺเจ็ดรอบ ให้ทานแก่คนยากจน ก่อนกลับบ้าน ท่านปฏิบัติเช่นนี้กระทั่งอายุได้ 40 ปี วันหนึ่งระหว่างปฏิบัติตะฮันนุชในถ้ำหิรออฺ ท่านนบีได้รับวะฮียฺจากอัลลอฮฺ (ศุบฮฺ) ผ่านญิบรีลเป็นครั้งแรก อิสลามตามแนวทางท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เริ่มต้นนับแต่วันนั้น นักประวัติศาสตร์ระบุว่าตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.610 หลังจากปีนั้น ไม่มีบันทึกว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กลับไปที่ถ้ำหิรออฺอีกหรือไม่ ทว่าท่านยังคงปลีกวิเวกและถือศีลอดในเดือนรอมฎอน กระทั่งสิบสองปีหลังจากนั้นท่านนบีจึงอพยพออกจากมักกะฮฺไปยังเมืองยัธริบที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอัลมะดีนะฮฺอัลมุเนาวาเราะฮฺ เรียกกันสั้นๆ ว่ามะดีนะฮฺ วันเริ่มเดินทางมีบันทึกไม่ชัดเจนนัก ทว่าวันที่ท่านนบีเดินทางถึงเมืองยัธริบมีบันทึกไว้โดยนักประวัติศาสตร์บางท่านว่าตรงกับวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.622เข้า ค.ศ.624 ปีที่สองของฮิจเราะฮฺ อิสลามบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอนโดยระบุไว้ในอัลกุรอาน อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:185 การถือศีลอดกลายเป็นข้อบังคับแก่มุสลิมนับแต่นั้น โดยสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน มุสลิมนิยมดำเนินตามแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นั่นคือการปลีกวิเวกที่มัสยิดหรือที่บ้านซึ่งเรียกกันว่า เอียะติกาฟ (اعتكاف Itikaf) วิธีการคล้ายคลึงตะฮันนุชหรือไม่ นักประวัติศาสตร์อิสลามบางท่านคงเคยวิเคราะห์ไว้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ตะฮันนุช, #tahunnuth, #ถือศีลอดก่อนอิสลาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *