เรื่องน่ารู้น่ารักในรอมฎอน

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าเช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:183 จึงระบุชัดเจนว่าการถือศีลอดเคยถูกกำหนดแก่ชนกลุ่มอื่นก่อนหน้าอิสลามมาแล้วโดยมิได้ระบุว่าเป็นเดือนใด ทว่ากำหนดเป็นภาคบังคับสำหรับมุสลิมเพื่อถือปฏิบัติตลอดเดือนรอมฎอนโดยระบุไว้ในอัลบะเกาะเราะฮฺ 2:187 ในอายะฮฺหลังนี้เองยังระบุอีกว่าอัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนนี้ เดือนรอมฎอนจึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับมุสลิม

ก่อนการมาของอิสลาม นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าชนชั้นสูงในเผ่ากุเรซแห่งดินแดนหิญาซ (الحجاز Hejaz) ในทะเลทรายอาระเบียนิยมถือศีลอดกันเป็นบางวันหรือตลอดเดือนในรอมฎอน นบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เมื่อท่านเข้าสู่วัยกลางคนทุกเดือนรอมฎอนท่านทิ้งธุรกิจทั้งปวงออกปลีกวิเวกยังถ้ำหิรออฺบนภูเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมืองมักกะฮฺเพื่อปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า “ตะฮันนุซ” (التَحَنُّث Tahannuth) ประกอบด้วยการถือศีลอดอาหารช่วงระหว่างวันตลอดเดือน การนั่งและยืนทำสมาธิ นางคอดียะฮฺผู้ภริยานำอาหารและเสื้อผ้าไปให้ท่านโดยบางครั้งร่วมปฏิบัติธรรมด้วย เป็นเช่นนี้หลายปีโดยท่านนบีเคยปฏิบัติก่อนหน้านั้นมาแล้วเช่นในปีน้ำท่วมมักกะฮฺครั้งใหญ่ทำให้หินดำหลุดออกจากผนังอาคารกะอฺบะฮฺ เมื่อท่านลงมาจากถ้ำหิรออฺจึงได้พบเห็นการพิพาทของชนอาหรับสี่ตระกูลแย่งกันนำหินดำกลับไปวางไว้ที่เดิม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนอิสลามนำไปสู่คำเรียกขานท่านนบีว่าอัลอมีนหรือผู้สัตย์ซื่อ

เดือนรอมฎอนก่อน ฮ.ศ.13 ปีหรือ ค.ศ.610 นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ปลีกวิเวกเพื่อถือตะฮันนุซในถ้ำหิรออฺเป็นปกติและครั้งนั้นเองมลาอิกะฮฺญิบรีลปรากฏขึ้นพร้อมกับการมาของอัลกุรอานห้าอายะฮฺแรก อัลอะลัก 96:1-5 อิสลามจึงเริ่มต้น ณ ค่ำคืนนั้น นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าตรงกับฤดูร้อนวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.610 อันเป็นค่ำวันศุกร์ที่ 17 เดือนรอมฎอน ท่านนบีอายุเวลานั้นคือ 40 ปี 6 เดือน 12 วัน อย่างไรก็ตามนักวิชาการอิสลามจำนวนหนึ่งเชื่อว่าตรงกับค่ำที่ 27 ของเดือนรอมฎอน จนปัจจุบันยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่นอนได้ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) รับโองการจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นรอซูลุลลอฮฺนับแต่ค่ำนั้น คำว่าอัตตะฮันนุชจึงมีอีกความหมายหนึ่งว่าการเข้าสู่ความเป็นศาสดา

รอมฎอนเป็นเดือนพิเศษ มุสลิมนิยมทำความสะอาดบ้านต้อนรับการมาของเดือนรอมฎอน มุสลิมหลายชาติเช่นในอิยิปต์ โมรอคโค หรือในยุโรป นิยมตกแต่งบ้านด้วยตะเกียงตลอดเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่ครั้งสุลต่านอัลมูอิซลิดินอัลลอฮฺ (Al-Muizz li-Din Allah) แห่งราชวงศ์ฟาติมิด ครองราชย์ในกรุงไคโร ค.ศ.953-975 พระองค์ทรงแนะนำให้ราษฎรติดตะเกียงไว้ตามจุดต่างๆทั้งในและนอกบ้านตลอดเดือนรอมฎอน ส่วนมุสลิมไทยไม่นิยมตกแต่งบ้านด้วยตะเกียงชอบการทำบุญเลี้ยงอาหารละศีลอด (إفطار Iftar) กันที่มัสยิด มากกว่า การระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ไม่สามารถยับยั้งประเพณีเลี้ยงละศีลอดนี้ได้ หลายมัสยิดใช้วิธีนำอาหารไปส่งถึงบ้านมุสลิมช่วงละศีลอด เป็นอิฟตารฺเดลิเวอรีว่ากันอย่างนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *