ดวงจันทร์เดือนรอมฎอน

ค่ำวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563 มุสลิมในประเทศไทยดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1441 ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งคาดว่าจะเป็นวันศุกร์ที่ 24 เมษายน เพื่อจะได้ถือศีลอดตั้งแต่แสงทองจับท้องฟ้ายามเช้ากระทั่งถึงดวงอาทิตย์ตกต่อเนื่องกันนาน 30 วัน การนับเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดเดือนรอมฎอนและเดือนอื่นๆตามปฏิทินอิสลามกำหนดจากดวงจันทร์ ขณะที่เวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการถือศีลอดในแต่ละวันกำหนดจากดวงอาทิตย์ จึงขอนำเรื่องราวของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มาเขียนให้พวกเราได้อ่านกันหน่อย

ดวงจันทร์ขึ้นลงเป็นเวลาสม่ำเสมอ มนุษย์จึงนำดวงจันทร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการนับเวลา ดวงจันทร์โคจรรอบโลกหนึ่งรอบใช้เวลา 28 วัน ระหว่างโคจร มนุษย์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์จากคืนจันทร์เสี้ยวแรก 1 ค่ำหรือนิวมูนซึ่งคือขึ้น 1 ค่ำ (หรือแรม 15 ค่ำ) ไปจนกระทั่งถึงคืนขึ้นหนึ่งค่ำครั้งใหม่ห่างกัน 29 วัน 12 ชั่วโมงไม่ใช่ 28 วันเนื่องจากระหว่างที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไปหนึ่งรอบนั้น โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์พร้อมกันไปด้วย นิวมูนที่มองเห็นซึ่งเกี่ยวข้องกับแสงอาทิตย์ส่องกระทบดวงจันทร์จึงเลื่อนเวลาช้าลงเดือนละหนึ่งวัน ผลที่ตามมาคือปีทางจันทรคติ 12 เดือน มีจำนวนวัน 354 วัน น้อยกว่าปีทางสุริยคติ 11 วัน 33 ปีปฏิทินอิสลามจึงยาวเท่ากับ 32 ปีปฏิทินสากล ใครที่มีอายุเกิน 40 ปีจึงมีโอกาสถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตรงกับทุกเดือนในปฏิทินสากล

ทุกสามปี ปฏิทินสุริยคติยาวกว่าปฏิทินทางจันทรคติ 33 วันหรือประมาณหนึ่งเดือน ความที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูก เป็นผลให้มนุษย์ยุคเก่าที่นับเดือนจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์บนท้องฟ้า จำเป็นต้องปรับปีทางจันทรคติให้สอดคล้องกับปีทางสุริยคติ จึงเกิดวิธีการเพิ่มเดือนขึ้นอีกหนึ่งเดือนในทุกสามปีเห็นได้จากปฏิทินจีนและปฏิทินไทยที่มีการเพิ่มเดือนทุกสามปี คนอาหรับยุคก่อนการมาของอิสลามใช้วิธีเพิ่มเดือนหนึ่งเดือนทุกสามปีเช่นกันเพื่อให้ฤดูกาลสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเดือนอย่างที่บอก การเพิ่มเดือนในโลกอาหรับยุคเก่าทุกสามปีเช่นนี้เรียกกันว่า “#อัลนาซีอฺ

การเพิ่มเดือนในโลกอาหรับดำเนินการเช่นว่านั้นมาตลอด สุดท้ายหยุดลงในยุคสมัยของอิสลามเมื่อมีคำสั่งในปีฮิจเราะฮฺที่ 10 ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่านบทที่ 9 อัตเตาบะฮ์ (การสำนึกผิด) วรรคที่ 37 ห้ามอัลนาซีอฺเหตุที่ห้ามเนื่องจากอาหรับบางชนเผ่าเพิ่มเดือนเพื่อประโยชน์ของตนเอง นับจากนั้นอิสลามจึงไม่มีการเพิ่มเดือนดังที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีต อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงประเทศต่างๆในโลกอิสลามต่างยึดถือปฏิทินสองระบบทั้งจันทรคติและสุริยคติเพื่อความสะดวกทางด้านศาสนาและด้านกิจกรรมทั่วไปที่สอดคล้องกับปฏิทินสากล การยกเลิกอัลนาซีอฺหากจะว่าไปให้ประโยชน์ต่อ #การถือศีลอดและ #การทำฮัจญฺ อย่างมาก ทำให้ไม่ซ้ำในฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งมากเกินไปอันจะเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติศาสนกิจ #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *