เมื่อหนูช่วยดันยุโรปเข้าสู่ยุคเรเนสซองค์

หนูตัวเล็กๆนำโรคร้ายแพร่เข้าสู่ยุโรปคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบครึ่งทวีป ใครจะไปเชื่อว่าเป็นเพราะโศกนาฏกรรมนี้จึงช่วยเร่งให้ยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการกระทั่งกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีในเวลาต่อมา เรื่องนี้กลายเป็นรายงานตีพิมพ์ในวารสาร the Royal Society’s journal Proceedings B เดือนตุลาคม 2016 จากผลงานวิจัยของ Munshi-South Lab มหาวิทยาลัยฟอร์แดม (Fordham) ในอังกฤษ

“หนู” พบได้ในทุกที่ของโลก มากที่สุดและตัวใหญ่ที่สุดคือหนูสีน้ำตาล (Rattus norvegicus) รองลงมาคือหนูสีดำ (Rattus rattus) สุดท้ายคือหนูบ้าน (Mus musculus) ที่มีขนาดตัวเล็กที่สุด หนูดำกับหนูบ้านติดตามมนุษย์ไปทุกที่ในโลกมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ในขณะที่หนูสีน้ำตาลเพิ่งติดตามมนุษย์ไปในระยะหลัง หนูทั้งหมดมีกำเนิดขึ้นในแผ่นดินจีนโบราณแถบทุ่งหญ้าในมองโกเลีย ยุคนั้นหนูอาศัยอยู่กับชุมชนมนุษย์จนชิน เมื่อเริ่มมีการค้าขายระหว่างดินแดนขึ้น หนูบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนูดำตัวเล็กจากเมืองจีนและมองโกเลียจึงติดไปกับพาหนะและผลผลิตที่ส่งไปขาย หนูจากจีนข้ามแดนไปยังอินเดียตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของอารยธรรม จากนั้นเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสตศักราชจึงข้ามจากอินเดียไปยังอบิสซีเนียในอัฟริกาก่อนจะกระจายลึกเข้าไปในแผ่นดินจนถึงซูดานซึ่งเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรมอียิปต์ก่อนกระจายไปอยู่ที่อื่นๆ

ปัญหาใหญ่ของหนูคือหมัดที่ติดไปกับตัวหนู หมัดเป็นแมลงตัวเล็กๆที่คอยดูดเลือดจากหนู หมัดมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ด้วยหลายชนิดมีอยู่ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Yersinia pestis หมัดชนิดนี้เป็นสาเหตุหลักของโรคที่เรียกว่ากาฬโรคหรือ Black death ที่นำความตายมาสู่มวลมนุษย์มากที่สุด ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 นั่นเองที่กาฬโรคคร่าชีวิตคนยุโรปไปมากถึงหนึ่งในสามหรือมากกว่า 50 ล้านคน การระบาดเริ่มต้นจากคาบสมุทรไครเมียและอาณาจักรออตโตมันที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากหนูดำที่ติดมากับพาหนะทางการค้าที่ผ่านมาทางเส้นทางสายไหมจากเมืองจีน อันที่จริงกาฬโรคระบาดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 7 โดยเริ่มต้นจากอียิปต์อันเป็นผลมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดมากับตัวหมัดของหนูดำ เมื่อมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นความสกปรก ความแออัดของชุมชน สงคราม กาฬโรคจึงระบาดขึ้น

สิ่งที่เป็นผลตามมาจากการสูญเสียที่เกิดจากกาฬโรคในยุคศตวรรษที่ 14 คือประชากรของยุโรปที่ถูกคร่าชีวิตจากกาฬโรคกระทั่งลดลงอย่างฮวบฮาบ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราวหนึ่งศตวรรษ ชาวยุโรปมีความทรงจำเลวร้ายจากความพ่ายแพ้ต่อชาวอาหรับที่ขับเคี่ยวกันในสงครามครูเสด เมื่อมาสูญเสียอีกครั้งจากกาฬโรค ความรู้สึกหดหู่ที่ทับทวีมีส่วนอย่างสำคัญในการเร่งให้ยุโรปสลัดพ้นจากอำนาจของศาสนาที่เคยครอบงำความคิดความเชื่อของผู้คนมาโดยตลอด ยุคฟื้นฟูวิชาการที่เรียกว่ายุคเรเนสซองค์จึงก้าวเข้ามาเร็วขึ้น ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าศาสนาไม่ได้ช่วยปกป้องจากโรคร้ายหรือแม้กระทั่งไม่ช่วยให้ได้ชัยชนะในสงครามศาสนาเลย จึงจำเป็นต้องแสวงหาหนทางอื่น การพัฒนาศิลปะวิทยาการโบราณยุคกรีกโรมันผสมผสานความรู้จากโลกอาหรับที่นำเข้ามาช่วงสงครามครูเสด จึงเริ่มต้นขึ้น นักประวัติศาสตร์สรุปอย่างนั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ