สร้างชุมชนสตาร์ทอัพประเทศไทยต้องเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เลือกตั้ง 2562 ไม่ได้ยินพรรคไหนกล่าวถึงการสร้างชุมชนสตาร์ทอัพซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในการแข่งขันกับโลก “สตาร์ทอัพ” (Startups) หมายถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีที่เริ่มกิจการใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน มีระบบบริหารจัดการที่ทำให้เติบโตได้เร็ว (sizeable) สะดวกต่อการสร้างกิจการลักษณะเดียวกันในที่อื่นๆ (repeatable) ประเทศไทยหากประสงค์จะแข่งขันในโลกต้องเร่งผลักดันคนรุ่นใหม่ให้สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพขึ้นมาให้ได้

อยากดูตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนสตาร์ทอัพต้องไปดูที่ “ซิลิกอนแวลลี” (Silicon vally) ทางใต้เมืองซานฟรานซิสโกซึ่งเป็นชุมชนด้านดิจิตอลและไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ซิลิกอนแวลลีในวันนี้มีธุรกิจสตาร์ทอัพด้านไอทีอยู่รวมกันนับหมื่นบริษัท สร้างรายได้ทางภาษีให้แก่รัฐแคลิฟอร์เนียเฉียดสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สตาร์ทอัพเหล่านี้ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กว่าสองหมื่นไร่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่วนที่เหลือกระจายเข้าไปในเขตเมืองพาโลอัลโตที่อยู่ติดกันจากนั้นกระจายต่อลงไปทางใต้กระทั่งถึงเมืองซานตาคลาร่า อยากเรียนรู้วิธีการสร้างชุมชนสตาร์ทอัพ แนะนำให้ไปที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งผมมีโอกาสไปดูมาแล้ว

การถือกำเนิดของซิลิกอนแวลลีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต้องยกเครดิตให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 โดยร่วมกับวิสัยทัศน์ของศิษย์เก่าสแตนฟอร์ดที่ไปร่ำเรียนในสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเส็ตส์หรือเอ็มไอที (MIT) อย่าง ดร.เฟรเดริก เทอร์แมน (Frederick E. Terman) ที่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงหมาดๆได้รับตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และผลักดันกลุ่มลูกศิษย์ของตนเองให้สร้างชุมชนไอทีขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สร้างเป็นสตาร์ทอัพที่ต่อมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดกระทั่งลามออกไปภายนอกกลายเป็นชุมชนไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้วอย่างที่เห็น

สตาร์ทอัพระยะแรกเติบโตช้าเกินไป การสร้างเมืองเทคโนโลยีอย่างที่ฝันจำเป็นต้องพึ่งพาศักยภาพของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ดร.เทอร์แมนจึงชักชวนบรรดาเพื่อนที่เป็นเจ้าของกิจการด้านไอทีทางฝั่งตะวันออกอย่างเช่นนิวยอร์คและนิวเจอร์ซีให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นที่มาของการย้ายฐานการผลิตชิบคอมพิวเตอร์ของนักธุรกิจใหญ่อย่างวิลเลียม สตอกเลย์ เกิดโรงงานไอทีแฟร์ไชลด์ (Fairchild) ที่ต่อมาแตกกิจการเป็นบริษัทลูกนับร้อยบริษัท เป็นผลให้ทั้งเทอร์แมนและสตอกเลย์กลายเป็นบิดาแห่งซิลิกอนแวลลีในเวลาต่อมา

ประเทศไทยหากฝันจะเป็นฮับทางด้านเทคโนโลยีดิจิตอล, ชีววิทยาโมเลกุล, นาโนวิทยาและหุ่นยนต์จำเป็นต้องเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สิ่งสำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศให้ได้ สำคัญพอๆกันคือปรับบรรยากาศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ว่านั้นมีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจ ปรับเปลี่ยนชุดความคิดให้หลุดออกจากความเป็นข้าราชการ เอื้อให้คณาจารย์สร้างประสบการณ์ทางธุรกิจ หากคณาจารย์ไม่เคยลองผิดลองถูก ทั้งไม่เคยเจ็บปวดกับธุรกิจด้วยตนเองเห็นทีจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสร้างสตาร์ทอัพขึ้นไม่ได้ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเขาทำอย่างนั้น