ศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงกับข้อพิสูจน์ในความเป็นศาสตร์

พ.ศ.2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา” มีท่านปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านเป็นประธานอนุคณะทำงาน ได้แก่ ท่านนิกร จำนง พลเอกนคร สุขประเสริฐ และ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ส่วนผมเองร่วมเป็นคณะทำงานอยู่ด้วย งานเสร็จสิ้นจัดทำหนังสือรายงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว พวกเราทำงานหนักเพื่อให้คนไทยได้เห็นคุณค่าของศาสตร์พระราชา ผมอยากนำบางส่วนของการอภิปรายมาถ่ายทอดไว้ในที่นี้สักหน่อย

คนไทยรู้จักคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” มานาน รู้ด้วยว่าเป็นส่วนสำคัญของ “ศาสตร์ของพระราชา” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ศาสตร์พระราชา” คำๆนี้เป็นคำบัญญัติใหม่โดยชาวบ้านใช้เรียกขานองค์ความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพัฒนาขึ้นซึ่งมีมากมาย คำถามในหมู่นักวิชาการคือศาสตร์พระราชาที่ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจพอเพียงด้วยนั้นจัดเป็น “ศาสตร์” หรือ Science หรือเปล่า เมื่อมีคำถามจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์โดยอ้างอิงความเป็นศาสตร์จากหนังสือ Philosophy of Research โดยรัตนะ บัวสนธ์ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 พบว่ากระบวนการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงกระทำกระทั่งกำเนิดเป็นศาสตร์พระราชานั้นต่างเป็นความรู้ที่สามารถทดสอบได้ องค์ความรู้ที่ได้มานั้นมีองค์ประกอบของความเป็นศาสตร์อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตปรากฏการณ์ การตั้งสมมุติฐาน การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนกระทั่งถึงการสรุปผล

โครงการในพระราชดำริตลอดจนโครงการอันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่นับเป็นภาพเชิงประจักษ์ของศาสตร์พระราชามีลักษณะเป็นงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) ทำให้ได้ความรู้ ความจริง ในลักษณะอธิบาย ทำนาย กระทั่งถึงการควบคุมปรากฏการณ์ เมื่อพิจารณาถึงระดับของศาสตร์ซึ่งในทางวิชาการจัดไว้ 4 ระดับ อันได้แก่ ศาสตร์หรือวิธีการเชิงประจักษ์ (Empirical level) ศาสตร์ระดับปฏิบัติ (pragmatic level) ศาสตร์ระดับปทัสถาน (Normative level) และศาสตร์ระดับคุณค่า (Meaning or purposive level) เห็นได้ว่าศาสตร์พระราชามุ่งสู่ความเป็นศาสตร์ระดับปฏิบัติ ผลที่ได้คือศาสตร์ระดับคุณค่า

องค์ความรู้หรือมวลสาระจากศาสตร์พระราชาสามารถตรวจสอบความถูกผิดได้ไม่ว่าจะโดยเชิงประจักษ์ (Empirical) หรือเชิงวิตรรก (Rational) ซึ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากผลของการดำเนินการโครงการตามพระราชดำริหรือโครงการสืบเนื่องจากพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศกว่า 3,500 โครงการ เกิดศัพท์เฉพาะตัว (Technical term) ขึ้นมากมาย เป็นคำศัพท์ที่เมื่อนำมาใช้แล้วรู้ได้ทันทีว่าสิ่งนี้คือองค์ประกอบของศาสตร์พระราชา ดังเช่น แกล้งดิน แก้มลิง เศรษฐกิจพอเพียง ฝนหลวง เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา เป็นต้น

ในทางวิชาการ ศาสตร์ยิ่งมีการคิดค้นศัพท์บัญญัติเฉพาะของตนมากเท่าใดย่อมแสดงถึงความรู้ความก้าวหน้าของศาสตร์ดังกล่าวมากเท่านั้น ศาสตร์พระราชาที่มีศัพท์บัญญัติเฉพาะมากมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงกำหนดขึ้นจึงอยู่ในระดับของศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าสูง ทั้งนี้โดยศาสตร์พระราชามีหลายศาสตร์ผสมผสานกันทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นอกจากจะมีสถานะในระดับสูงแล้วยังแสดงถึงผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่กำหนดด้วย นี่คือสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่แสดงถึงความเป็นศาสตร์ของศาสตร์พระราชา และแน่นอนยังแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทั่วทั้งโลกพากันยกย่องสรรเสริญ โดยสรุปคือศาสตร์พระราชาซึ่งครอบคลุมถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” แสดงความเป็นศาสตร์อย่างสมบูรณ์ปราศจากข้อกังขา เป็นสิ่งที่พวกเราชาวไทยควรภาคภูมิใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกแห่งแผ่นดิน