เข้าใจเดือนปีตามปฏิทินอิสลามก่อนเข้าเดือนรอมฎอน

วันนี้ 22 มีนาคม 2562 ตรงกับวันที่ 16 เดือนรอญับ ฮ.ศ.1440 อีกเดือนกว่าๆจะถึงเดือนรอมฎอนที่คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 โดยต้องรอฟังประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี หนึ่งเดือนนั้นเดี๋ยวเดียว ลองทำความเข้าใจเรื่องปีอาหรับทำไมจึงมีน้อยกว่าปีสากลสักหน่อยก็ดี ทั้งหมดเป็นผลมาจากดวงจันทร์ซึ่งโคจรรอบโลกใช้เวลาประมาณ 28 วันต่อหนึ่งรอบ การโคจรดังกล่าวทำให้มนุษย์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์จากเดือนขึ้นหนึ่งค่ำครั้งหนึ่งไปจนกระทั่งถึงคืนขึ้นหนึ่งค่ำครั้งใหม่ห่างกัน 29 วัน 12 ชั่วโมง เหตุที่ไม่ใช่ 28 วันอย่างที่บอกครั้งแรกเนื่องจากระหว่างที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไปหนึ่งรอบนั้น โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์พร้อมกันไปด้วย จันทร์เสี้ยวที่มองเห็นซึ่งเกี่ยวข้องกับแสงอาทิตย์ส่องกระทบดวงจันทร์จึงเลื่อนเวลาช้าลงเดือนละประมาณหนึ่งวัน ผลที่ตามมาคือปีทางจันทรคติซึ่งมี 12 เดือน มีจำนวนวัน 354 วัน น้อยกว่าปีทางสุริยคติ 11-12 วัน โดยสรุปคือ 33 ปีปฏิทินอิสลามจะยาวเท่ากับ 32 ปีปฏิทินสากล ประมาณนั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะรับรู้กันไว้คือ การนับวันในรอบหนึ่งปีตามปฏิทินสุริยคติมีค่าเท่ากับ 365 วันกับ 6 ชั่วโมง ขณะที่การนับโดยจันทรคติ 12 เดือนได้จำนวนวันเท่ากับ 354 วันต่างกัน 11-12 วันดังที่บอกไว้ หมายความว่าในรอบสามปี ปฏิทินสุริยคติจะยาวกว่าปฏิทินทางจันทรคติ 33-36 วัน ความที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกค่อนข้างมาก เป็นผลให้มนุษย์ยุคเก่าที่นับเดือนจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์บนท้องฟ้า จำเป็นต้องปรับปีทางจันทรคติให้สอดคล้องกับปีทางสุริยคติ เป็นผลให้เกิดวิธีการเพิ่มเดือนขึ้นอีกหนึ่งเดือนในทุกสามปีเห็นได้จากปฏิทินจีนและปฏิทินไทยที่มีการเพิ่มเดือนทุกสามปี ขณะเดียวกันคนอาหรับยุคเก่าก่อนการมาของอิสลามใช้วิธีเพิ่มเดือนหนึ่งเดือนทุกสามปีเช่นเดียวกันทั้งนี้เพื่อให้ฤดูกาลสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเดือน การเลื่อนเดือนในโลกอาหรับยุคเก่าเช่นนี้เรียกกันว่า “อัลนะซีอฺ”

การเพิ่มเดือนในโลกอาหรับเป็นเช่นนั้นมาตลอด สุดท้ายหยุดลงในในฮิจเราะฮฺศักราชที่ 10 ของอิสลามหรือ ค.ศ.632 ตามคำสั่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่านบทที่ 9 อัตเตาบะฮ์ (การสำนึกผิด) วรรคที่ 37 ความว่า “แท้จริงการเลื่อนเดือนที่ต้องห้ามให้ล่าช้าไปนั้นเป็นการเพิ่มในการปฏิเสธศรัทธายิ่งขึ้น โดยที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นถูกทำให้หลงผิดไป เนื่องด้วยการเลื่อนเดือนต้องห้ามนั้นพวกเขาได้ให้มันเป็นที่อนุมัติปีหนึ่งเพื่อพวกเขาจะให้พ้องกับจำนวนเดือนที่อัลลอฮ์ได้ทรงห้ามไว้ พวกเขาก็จะทำให้เป็นที่อนุมัติสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้เป็นที่ต้องห้าม” นับจากนั้นอิสลามไม่มีการเลื่อนเดือนดังที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีตอีก การเลื่อนเดือนที่มักทำโดยหัวหน้าชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชุมชนตนเองจึงทำไม่ได้นับจากนั้น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนหรือเดือนที่เก้าก็ดี การทำพิธีฮัจย์ในเดือนซุลฮิจยะฮ์หรือเดือนสิบสองก็ดี จำเป็นต้องดำเนินไปตามวันเวลาที่ไม่มีการเลื่อนเดือนเป็นผลให้การถือศีลอดและการทำฮัจญฺร่นระยะเวลาเร็วขึ้นปีละ 11-12 วัน ดังที่ปรากฏในทุกวันนี้