วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการฮัจญฺและอุมเราะฮฺ

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2566 ผมเป็นหนึ่งในองค์ปาถกอภิปรายเรื่องที่จั่วหัวไว้ด้านบนในงาน The Grand Hajj Symposium 1444 AH ที่โรงแรม Ritz Carlton นครเจดดะฮฺ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย งานนี้เป็นงานใหญ่มีผู้ร่วมงานจากกว่าร้อยประเทศ ทั้งหมดเป็นนักวิชาการมุสลิมที่ส่วนใหญ่จะเข้าร่วมพิธีฮัจญฺ ฮ.ศ.1444 ในมหานครมักกะฮฺซึ่งจะเริ่มในวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายนไปสิ้นสุดวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน โดยหลายคนอาจลากยาวไปสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม สำหรับผมวันอาทิตย์ต้องถึงกรุงเทพฯเพราะมีหนึ่งงานบรรยายสำคัญในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม ที่เมืองมากัสซา เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ผมจะมีงานบรรยายและประชุมในต่างประเทศค่อนข้างชุก เฉพาะซาอุดีอาระเบียมีโปรแกรมต้องเดินทางกลับไปอีกสามครั้ง อินโดนีเซียอีกสามครั้งผู้จัดงานขอให้ผมบรรยายเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในการจัดเตรียมอาหารฮาลาลสำหรับผู้ร่วมพิธีฮัจญฺและอุมเราะฮฺ ผมเตรียมแนวทางที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พัฒนาขึ้นซึ่งมีทั้งการทำมาตรฐาน การจัดกระบวนการการมาตรฐานฮาลาล การใช้นวัตกรรมการชำระล้าง การพัฒนาฐานข้อมูล การใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล รวมไปถึงการพัฒนางานบล็อกเชนฮาลาลโดยยกตัวอย่างการจัดเตรียมอาหารที่ครัวการบินไทยซึ่งผมมีส่วนร่วมไปวางระบบไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2539 ก่อนการจัดตั้ง ศวฮ. และนำทีมเข้าไปช่วยงานจนถึงปัจจุบัน โดยจะแสดงถึงกระบวนการพัฒนาอาหารฮาลาลที่มีกระบวนการทวนสอบย้อนกลับจากครัวการบินไทยเพื่อเป็นแนวทางการเตรียมอาหารสำหรับองค์กรอื่นที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในพิธีฮัจญฺและอุมเราะฮฺที่ซาอุดีอาระเบีย โดยจัดทำสไลด์ 12 แผ่นเพื่อใช้ในการบรรยายองค์บรรยายมีสี่คน ผมเป็นหนึ่งในสี่ อีกสามคนเป็นคนซาอุดีสองคน คนหนึ่งทำงานเป็นอาจารย์ด้านไอทีที่สถาบันเอ็มไอทีในสหรัฐอเมริกา อีกคนเป็นชาวจอร์แดนทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาที่สถาบันเอ็มไอที คนที่สามเป็นแพทย์ชาวซาอุเคยทำงานในสหรัฐอเมริกาและกลับมาเป็นแพทย์ที่ริยาด มีผมคนเดียวที่ไม่ใช่อาหรับ ในการบรรยายจริงรูปแบบเปลี่ยนไป ผู้ดำเนินรายการใช้วิธีการตั้งคำถามไปยังวิทยากรแต่ละคน สรุปเอาเป็นว่าผมไม่มีโอกาสใช้สไลด์ที่เตรียมมา เพราะต้องตอบคำถามบนเวทีกันสดๆ โดยเน้นไปที่อาหารฮาลาลทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง แต่ผมค่อนข้างพอใจในงานนี้ผมพบคุณฮาลิม กงสุลไทยประจำเจดดะฮฺซึ่งท่านเอกอัครราชทูตดามพ์ บุญธรรม วานให้มาดูแลผมหน่อย ทั้งเจอเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยและจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่มาร่วมงาน นอกนั้นเป็นคนต่างชาติทั้งหมด ผู้ร่วมงานหลายคนสนใจงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย ระหว่างการอภิปราย ผู้ดำเนินรายการแนะนำตัวผมว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลกมุสลิม 500 คนต่อเนื่องมา 14 ปี กลายเป็นประเด็นที่นักข่าวจากซาอุดีสองรายมาขอสัมภาษณ์ สนุกสนานกันไปอีกแบบ สรุปเอาเป็นว่างานจัดไว้ดี เข้าใจว่านับจากนี้งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในเทศกาลฮัจญฺและอุมเราะฮฺของซาอุดีอาระเบียที่ให้ความสนใจกับการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในหลายด้านรวมทั้งด้านอาหารและการเกษตรภายใน ค.ศ.2030 ตามวิสัยทัศน์ซาอุดี 2030 คงต้องรอติดตามกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #grandhajjsymposium1444

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *