มอ.ปัตตานีกำลังร่วมสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตอนที่ 1

วานนี้เสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาการอิสลาม (Faculty of Islamic Sciences) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) จัดงานดินเนอร์ทอล์ค สำหรับนักเรียนโรงเรียนสาธิตระดับมัธยมปลายของทางคณะคือโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม โดยจัดที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เชิญผมไปบรรยายพิเศษ มีผู้ฟังคือนักเรียนระดับดังกล่าวร่วมกับครูอาจารย์ ผู้บริหารคณะ ร่วม 300 คน งานจัดอย่างหรูหรา นักเรียนที่กำลังเตรียมตัวเรียนระดับมหาวิทยาลัยใส่สูทกันพร้อมเพรียงดูงามสง่า เป็นงานคล้ายกาล่าดินเนอร์ทำนองนั้นผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรแต่ต้องเลื่อนงานเนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ จึงต้องขอบคุณที่ทางคณะสู้อุตส่าห์รอ ผมเคยบรรยายงานสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนลักษณะนี้มาแล้วจึงไม่ทันคิดว่างานจะจัดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อไปถึงงานจึงออกจะแปลกใจและประทับใจ นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษกันบนเวทีอย่างคล่องแคล่ว ผมเล่าบนเวทีว่าเพิ่งกลับจากอินโดนีเซียได้ไปเห็นพัฒนาการโรงเรียนมัธยมปลายของอินโดนีเซียที่เป็นโรงเรียนประจำหรือ Boarding school หลายแห่ง ประทับใจการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนที่นั่น คิดว่าอินโดนีเซียกำลังเร่งสร้างคนเพื่ออนาคต ประเทศไทยของเราเจอคู่แข่งสำคัญเข้าแล้ว จะตามเขาทันหรือเปล่า เมื่อได้เจอนักเรียน รร.สาธิต มอ.ปัตตานี ตัวเป็นๆเข้าให้ บอกตามตรงว่าขนลุกซู่ด้วยความภาคภูมิใจ โรงเรียนไทยหลายแห่งคงเป็นลักษณะเดียวกัน หากเป็นอย่างนี้จะให้เราแข่งกับใครที่ไหนก็ได้ ที่ยิ่งน่าประทับใจคือนักเรียน มอ.ปัตตานีซึ่งเป็นมุสลิมล้วน ทั้งหมดเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เคยฝันไว้เมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เมื่อหลายปีมาแล้ว ดูท่ากำลังจะเป็นจริง นั่นคือฝันว่านักเรียนนักศึกษาไทยเรียนสาขาวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ผมให้ความเห็นไปว่าดัชนีชี้วัดสำคัญทางด้านการศึกษาที่จะบอกว่าประเทศสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ได้หรือไม่ คือสัดส่วนที่สูงของบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่สัดส่วนของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในภาพรวม งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศพัฒนาได้ยากแม้สร้างบัณฑิตได้มากทว่าเป็นบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่สูงเกินไป สังคมที่ยกระดับการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่ได้ ผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ได้ต่ำ ย่อมพัฒนาไปได้ยาก งานวิจัยทางวิชาการชี้ประเด็นไว้อย่างนั้นนานนับสิบปีมาแล้ว ผมเป็นคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับรู้ผ่านที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย (ทปอ.) ว่า มอ.ปัตตานีเกิดปัญหาคือมีนักศึกษามุสลิมจำนวนมาก ผมถามกลับไปว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะบ่นบ้างได้ไหมว่ามีนักศึกษาที่ไม่ใช่มุสลิมมากเกินไป หากจะแก้ปัญหาโดยเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาย่อมแก้ได้ยาก มอ.ปัตตานีมีนักศึกษามุสลิมจำนวนมากนั้นถูกต้องแล้ว สอดคล้องกับประชากรในพื้นที่ ปัญหาที่ควรเป็นประเด็นให้ตั้งคำถามคือนักศึกษามุสลิมจำนวนมากเหล่านั้นสามารถพัฒนาเป็นทรัพยากรคุณภาพให้กับประเทศได้หรือเปล่า ในเมื่อจำนวนนักเรียนนักศึกษาของประเทศไทยในพื้นที่อื่นลดลงอย่างรวดเร็วจากปัญหาประชากรที่หดตัวลง ยกเว้นในพื้นที่มุสลิมภาคใต้ตอนล่างที่กลับเพิ่มขึ้น ผมเคยมาบรรยายที่โรงเรียนธรรมวิทยา ยะลา มีเด็กนักเรียนฟังการบรรยาย 8 พันกว่าคน เด็กนักเรียนในพื้นที่มุสลิมเติบโตสวนทางกับเด็กนักเรียนในพื้นที่อื่นของประเทศ การบ้านสำคัญในวงการศึกษาคือ ประเทศต้องสร้างคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษามุสลิมเหล่านั้นให้ได้ หากทำไม่ได้ก็ป่วยการ สังคมไทยในภาพรวมย่อมไม่ได้รับประโยชน์ ผมเคยติงเรื่องนี้ไว้ โดยขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ เมื่อได้มาเห็นด้วยตาวันนี้แล้วก็อุ่นใจ ฝันใกล้จะเป็นจริง ว่ากันอย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #มอปัตตานี, #คณะวิทยาการอิสลาม, #นักเรียนวิทยาศาสตร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *