มอ.ปัตตานีกำลังร่วมสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตอนที่ 2

ผมเริ่มการบรรยายในงานดินเนอร์ทอล์ค รร.สาธิต คณะวิทยาการอิสลาม มอ.ปัตตานี ด้วยเรื่องภาพจำของสังคมนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศที่ว่าเด็กมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการเรียนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เด็กจำนวนมากเรียนต่อในสาขาศาสนาอิสลามเป็นเพราะเรียนสายวิทยาศาสตร์ไม่ได้ หากไม่เร่งแก้ปัญหานี้ การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ประเด็นการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์จึงเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ความเห็นของผมเป็นอย่างนั้นนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาด้านคุณภาพกระทั่งเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์ไม่ได้เท่าที่หวังข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เหตุใดภาพจำของสังคมนอกพื้นที่จึงเป็นเช่นนั้น ผมมีประสบการณ์ของผมเองนั่นคือ พ.ศ.2536 ผมย้ายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปสอนที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลกใจที่ทางจุฬาฯมีทุนการศึกษาที่เรียกว่าจุฬาชนบท รับนิสิตจากทุกพื้นที่ในประเทศเรียนในทุกสาขาของมหาวิทยาลัย ทว่าไม่มีนิสิตมุสลิมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ทางกองทุนไม่ได้มีปัญหาแต่กรรมการคัดเลือกนิสิตกังวลเรื่องความปลอดภัยในการลงไปคัดเลือกนิสิตรับทุนในพื้นที่ ความปลอดภัยคือภาพจำที่ไม่เป็นบวกเรื่องที่หนึ่งคุยกับอาจารย์บางท่านได้ข้อมูลว่ามีความกังวลเรื่องประสิทธิภาพของเด็กมุสลิมจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างทำให้เรียนไม่จบการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ นี่คือภาพจำเชิงลบเรื่องที่สอง ภาพจำลักษณะนี้จะโทษทางมหาวิทยาลัยหรือคณาจารย์ก็คงไม่ถูก ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดภาพจำเหล่านั้นมีอยู่จริง และผมสัมผัสมาแล้ว กองทุนต่างประเทศอย่างน้อยสองกองทุนให้ทุนการศึกษาต่อสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เด็กนักเรียนมุสลิมประเทศไทย ปรากฏว่าเด็กที่รับทุนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเรียนได้ ต้องย้ายสาขาไปเรียนทางสายสังคมศาสตร์ จำนวนมากย้ายไปเรียนสาขาศาสนาซึ่งมีคะแนนต่ำ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ภาพจำจึงเกิดขึ้นว่าประสิทธิภาพของเด็กมุสลิมมีปัญหา ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? นี่คือคำถามผมเคยดูแลกองทุนการศึกษาพบปัญหาใหญ่ที่แก้ได้ยากคือเรื่องการฝากเด็ก จากผู้ใหญ่บ้าง ผู้มีพระคุณบ้าง หัวคะแนนนักการเมืองบ้าง สารพัด คัดเลือกกระทั่งได้เด็กมีคุณภาพแล้วกลับถูกเปลี่ยนตัวออกโดยไม่รู้ตัวในภายหลัง ปัญหาเช่นนี้ทำให้การสร้างบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นไม่ได้ สุดท้ายผมต้องลาออกจากการเป็นกรรมการคัดเลือก เรามีปัญหาลักษณะนี้มากเกินไป เห็นใจเด็กที่ได้รับการคัดเลือกแล้วถูกตัดตัวออกกลางอากาศเพื่อเปิดพื้นที่ให้ลูกหลานบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มีบารมีเหล่านั้น ผมเคยคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ให้ทุนสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การแพทย์แก่นักเรียนไทยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เขาบ่นว่าเด็กนักเรียนไทยมุสลิมในพื้นที่ที่ทางมหาวิทยาลัยของเขารับเข้ามาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์มีคุณภาพไม่ถึงระดับ สุดท้ายต้องย้ายสาขาไปเรียนทางสังคมศาสตร์กันแทบหมด เป็นผลให้ทางมหาวิทยาลัยต้องลดจำนวนทุนลง ประสบการณ์ของผมคือเด็กคุณภาพในพื้นที่มุสลิมมีจำนวนไม่น้อยแต่ไม่ได้รับเลือกอันเป็นผลมาจากระบบการคัดเลือกของเราเองมีปัญหา ผลเสียที่ติดตามมาคือภาพจำเชิงลบด้านคุณภาพของมุสลิมที่ถูกสร้างขึ้นในใจของทั้งคนไทยทั่วไปและคนต่างประเทศ จำเป็นต้องหาหนทางลบภาพเชิงลบเหล่านั้นออกไปให้ได้พ.ศ.2543-2551 ด้วยตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจัดสรรทุนแก่เด็กจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างให้เข้าเรียนในหลักสูตรสหเวชศาสตร์ ทั้งเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด โภชนาการและการกำหนดอาหาร สาขาเหล่านี้คะแนนอยู่ในอันดับสูงของประเทศ เน้นระดับการคัดเลือกโดยมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์เป็นผู้ดูแล ทางคณะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเพียงตั้งเกณฑ์ให้เท่านั้น ตัดระบบฝากเด็กออกให้หมด ปรากฏว่าเด็กนักเรียนมุสลิมจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเข้าเรียนที่คณะสหเวชศาสตร์หลายรุ่น เกือบครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับเกียรตินิยม ส่วนที่เหลือได้เกรดเฉลี่ยใกล้ๆ 3.0 บทสรุปคือนักเรียนมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีคุณภาพระดับสูง ผมจึงดีใจที่มีส่วนในการลบภาพจำเชิงลบส่วนนี้ไปได้ ทั้งได้เห็นนิสิตรับทุนที่มาจากภาคใต้ตอนล่างในคณะต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในจำนวนที่มากขึ้น ในส่วนของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ผมดูแลอยู่ เวลานี้มีบุคลากรระดับปริญญาเอกสายวิทยาศาสตร์มากถึง 7 คนในจำนวนนี้ 3 คนมาจากโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลานี้ทำงานวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี พัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์กระทั่งจดสิทธิบัตรนับเป็นสิบชิ้นเข้าไปแล้ว นี่คือศักยภาพสาขาวิทยาศาสตร์ของเด็กมุสลิมจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่มั่นใจได้เลยว่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา ผมมั่นใจอย่างนั้น #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วิทยาศาสตร์ฮาลาล, #มอปัตตานี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *