ฟังเสียงพูดเร็วให้เข้าใจช่วยซ่อมแซมสมองคนวัยชรา

คนเราอายุมากขึ้น ความคิดอ่านช้าลง ตัดสินใจช้าลง เป็นผลจากเซลล์ประสาทในสมองเสื่อมตามเซลล์และอวัยวะในร่างกาย สมควรซ่อมแซมเซลล์ประสาทในสมองเหล่านั้นบ้าง ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่นสูง ใช้วิธีการให้สมองได้คิดได้ประมวลผลบ่อยๆ สมองจะเสื่อมช้าลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ การซ่อมแซมสมองแบบง่ายๆคืออ่านหนังสือประเภทที่ต้องคิดวิเคราะห์ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองทางสื่อต่างๆช่วยให้สมองได้พินิจพิเคราะห์ข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เร็วกว่านั้นคือเล่นปริศนาอักษรไขว้ หรือ SUDOKU ที่ช่วยทั้งพัฒนาและฟื้นฟูทำให้สมองเสื่อมสภาพช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น หากยังไม่ชอบวิธีการเหล่านั้น ลองดูวิธีการที่ง่ายกว่านั้นอย่างเช่นฟังคนพูดเร็วหรือร้องเพลงเร็วที่อาจให้ผลได้เร็วกว่ามิชาเอล เมอร์เซนิก (Michael Merzenich) นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งซานฟรานซิสโกทำวิจัยด้านสมองมานานกว่าสามสิบปีให้ข้อสรุปไว้น่าสนใจว่าการทำงานของสมองสัมพันธ์กับการทำงานของดวงตาและหูอย่างมาก ดังนั้นการดูและการฟังจึงช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ดวงตาเสื่อมลง ประสาทหูแย่ลง มองอะไรไม่ชัด ยิ่งการฟังมีปัญหาด้วยแล้ว การประมวลผลจากการฟังและการดูย่อมเกิดปัญหา ผลที่ตามมาคือสมองทำงานช้าลง จึงต้องระวังรักษาประสาทหูและประสาทตาเข้าไว้ หากทำให้การฟังและการมองมีประสิทธิภาพมากขึ้นย่อมทำให้สมองพัฒนาดีตามไปด้วย แนวคิดเช่นนี้เองทำให้ ดร.เมอร์เซนิกพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้คนชราได้ฝึกฝนการฟังและการมอง เป็นโปรแกรมที่ช่วยให้คนชราเมื่อมองอะไรแล้ว เห็นและวิเคราะห์ได้เร็วขึ้น ฟังอะไรแล้ว ได้ยินได้เข้าใจมากขึ้น คำอธิบายในเรื่องนี้ เมอร์เซนิกยกตัวอย่างนักไวโอลินเก่า หากเคยเล่นไวโอลินมาก่อนแล้วต้องเลิกเล่นไวโอลินไปนาน ขาดโอกาสฝึกฝนจะกลายเป็นคนที่เสมือนเล่นไวโอลินไม่เป็น หากได้กลับมาเล่นไวโอลินอีกครั้ง การฝึกฝนด้วยมือร่วมกับการฟังบ่อยๆจะทำให้นักไวโอลินเก่าคนนั้นกลับมาเล่นไวโอลินได้เก่งอีกครั้งแม้ไม่เท่าเดิมก็ยังดีกว่าคนที่ไม่เคยเล่น การฟังด้วยหูร่วมกับการทำด้วยมือจึงเป็นสูตรสำคัญของการพัฒนาสมอง เมอร์เซนิกใช้เครื่องบันทึกเทปเป็นอุปกรณ์สำคัญ ฝึกฝนให้คนชราฟังช้าๆจากนั้นค่อยๆเร่งความเร็วของคำพูดทำให้สมองของคนชราพัฒนาตามความเร็วของคำพูด สมองได้ทำงานโดยต้องคิดตามให้ทัน จึงช่วยให้สมองยืดหยุ่นมากขึ้น ศักยภาพการทำงานของสมองเพิ่มสูงขึ้น การฟื้นคืนตัวของสมองจึงเกิดขึ้นทีละน้อย กระทั่งกลับมาเกือบปกติเมอร์เซนิกใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นฝึกการฟังของคนชราอายุ 63-94 ปีจำนวน 95 คน โดยฝึกในห้องที่เงียบ วันละหนึ่งชั่วโมงนานแปดสัปดาห์ ปรากฏว่าประสิทธิภาพสมองของคนชราดีขึ้นมาก ทำแบบฝึกหัดสมองได้คะแนนสูงขึ้นอย่างชัดเจน แบบฝึกหัดยิ่งยากเท่าไหร่ การพัฒนาก็ยิ่งเห็นผลชัดเจนเท่านั้น บางคนอายุสมองอ่อนวัยได้ถึงสิบปี ใครคิดจะฝึกสมองตามเทคนิคของเมอร์เซนิกแต่ขาดอุปกรณ์ ลองใช้มือถือนั่นแหละฝึกฟังคำพูดรัวๆเร็วๆ อาจฟังเพลงแร็พเร็วๆที่มีอยู่มากในยูทูป ฟังให้รู้เรื่อง ค่อยๆปรับความเร็วให้มากขึ้น อาจแดนซ์ด้วยมือหรือร่างกายตามไปด้วย จะช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ไม่น้อย ไปลองทำกันดู#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #การฟังช่วยซ่อมแซมสมอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *