ผลต่อสุขภาพและอายุขัย เปรียบเทียบระหว่างอาหารกับยา

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และโภชนาการประมาณการไว้ว่า อายุขัยของมนุษย์พิจารณาจากพันธุกรรมยืนยาวได้ถึง 140 ปี เอาเข้าจริงกลับไปไม่ถึงด้วยหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า กลไกทางเมแทบอลิซึมผิดปกติ (Dysmetabolism) พฤติกรรมเลว (Bad behaviours) การได้รับสารพิษ (Intoxicants) ภาวะสารอาหารขาดสมดุล (Imbalanced) ฮอร์โมนผิดปกติ อนุมูลอิสระ (Free radicals) ปัจจัยเหล่านี้กดอายุขัยให้ลดลงจาก 140 ปีเหลือ 70 ปี เหลือแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น อายุขัยที่เหลือยังถูกกดดันต่อด้วยปัจจัยอื่น เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมรอบตัว อายุขัยเฉลี่ยจาก 70 ปีหายไปอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 เหลือน้อยกว่า 60 ปีเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ จากข้อมูลดังกล่าวเห็นกันชัด ๆ ว่าปัจจัยหลักที่กดดันให้อายุขัยของมนุษย์ลดลง มาจากเรื่องอาหารและโภชนาการและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่เหลือเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น เรื่องนี้รู้กันมานานนับพันปีแล้ว ตำราแพทย์แผนจีน อินเดีย อาหรับ กรีกโรมัน เมโสโปเตเมีย อิยิปต์ จึงเน้นความสำคัญไปที่อาหาร ตำราแพทย์แผนจีนหรือชงยี (中医) จึงแนะนำให้ใช้อาหารเป็นยา ในอิสลาม ขยายเรื่องราวของอาหารครอบคลุมไปถึงการกินและการอด แนะนำกันว่ากินอะไร กินเท่าไหร่ กินเมื่อไหร่ อดอย่างไร อดแบบไหน เรื่องราวของการกินจึงกลายเป็นศาสตร์ที่แตกแขนงแยกย่อยไปได้อีกมากมายทางด้านสุขภาพยังมีเรื่องของยาพ่วงเข้ามาอีก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สตีเฟน ซิมป์สัน (Stephen Simpson) ผู้อำนวยการศูนย์ชาร์ลส์ เพอร์กินส์ (the Charles Perkins Centre) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย นำทีมวิจัยเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างยากับอาหารในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก รวมถึงผลกระทบต่ออายุขัย ศึกษาทั้งในหนูทดลองและในมนุษย์ ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism กลางเดือนพฤศจิกายน 2021 นี้เองในการศึกษามีการใช้สูตรอาหาร 40 สูตร แตกต่างกันทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เปรียบเทียบกับการใช้ยา ดูผลต่ออายุขัย ศึกษาเจาะลึกทั้งเรื่องผลของโปรตีน พลังงาน และยากับการทำงานของไมโตคอนเดรีย และส่วนอื่นของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับอายุขัย ผลการศึกษาอย่างซับซ้อนได้ข้อสรุปว่า อาหารและโภชนาการให้ผลต่อสุขภาพรวมถึงต่ออายุขัยดีกว่าการใช้ยา สรุปคือ ใครอยากมีอายุขัยยืนยาวกว่าเก่า ควรให้ความสำคัญต่อเรื่องการกินและการอดให้มากขึ้น อย่าไปเสียเงินทองให้มากนักกับเรื่องของยาเลย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #โภชนาการกับอายุขัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *