นบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) พลังละมุนแห่งอิสลาม ตอนที่ 21 ข้อควรระวังเกี่ยวกับการงีบหลับกลางวัน

มีคำถามอยู่เสมอจากคนยุคปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกสไตล์แองโกลอเมริกันว่าการงีบหลับกลางวัน (Midday Nap) ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษตามรากศัพท์ภาษาสเปนว่า Siesta (ซีเอสต้า) หรือในภาษาอาหรับว่า “ฆอยลูละฮฺ” ซึ่งเป็นสุนนะฮฺหรือจริยวัตรของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ให้ประโยชน์หรือให้โทษกันแน่ บ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ บ้างว่าสร้างปัญหาต่ออุปนิสัย ทั้งลดประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นในเมื่อมีคำถาม ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องทำวิจัยเพื่อหาคำตอบ Janna Mantua แล Rebecca M C Spencer แห่ง Neuroscience & Behavior Program, University of Massachusetts ทำการศึกษาเรื่องการสำรวจแนวคิดที่ขัดแย้งกันเรื่องการงีบหลับกลางวันว่าเป็นเพื่อนหรือศัตรูกันแน่ ตีพิมพ์ในวารสาร Sleep Med ค.ศ.2017 บทสรุปมีว่าการงีบหลับกลางวันนอกจากช่วยลดอาการง่วงนอนแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ช่วยเพิ่มความจำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในภายหลัง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหาร เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ ประโยชน์เหล่านี้เกิดขึ้นแม้ผู้นั้นนอนหลับอย่างเพียงพอในคืนก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้นำเสนอข้อขัดแย้งบางส่วน เป็นต้นว่าการงีบหลับกลางวันบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์เชิงลบบางประการ เป็นต้นว่า ความรู้ความเข้าใจลดลง ปัญหาความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในประชากรสูงอายุ ข้อแนะนำของผู้วิจัยคืองีบหลับกลางวันควรทำในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากหรือบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบภายในเซลล์ที่เพิ่มขึ้นจึงต้องระวังไว้อันที่จริง การงีบกลางวันมิใช่วัฒนธรรมเฉพาะในอิสลามเท่านั้น ยังเป็นวัฒนธรรมในหลายชาติของยุโรปใต้ ในภาษาสเปนใช้คำว่าซีเอสต้า (Siesta) ซึ่งเป็นคำที่มีรากมาจากภาษาละติน ใช้ในหมู่ชนโรมันโบราณ โดยมาจากคำว่า sexta hora ที่หมายถึงชั่วโมงที่หก ชนโรมันนับวันโดยเริ่มที่ 6 นาฬิกายามเช้า ชั่วโมงที่หกจึงเป็นเที่ยงวัน การงีบหลับในชั่วโมงที่หกจึงเป็นการงีบหลับเวลาเที่ยง (Midday Napping) วัฒนธรรมของสเปนและโรมันจึงไม่ต่างจากวัฒนธรรมอาหรับนั่นคืองีบหลับกลางวันโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ถึงไม่หลับก็ไม่เป็นไรการศึกษาประโยชน์ของการงีบหลับกลางวันพบว่าให้ผลดีกับคนทุกเพศทุกวัย การศึกษาที่ดำเนินการในมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเอเธนส์ และอีกหลายมหาวิทยาลัยระบุว่าการงีบหลับกลางวันช่วยเพิ่มพลังสมอง ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ทั้งช่วยเพิ่มสติปัญญา นั่นเป็นผลเชิงบวก ขณะที่มีบางรายงานกล่าวถึงผลเชิงลบ เช่น การสร้างพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinate) ผู้วิจัยจึงเน้นว่าหากประสงค์ให้กิจกรรมที่ดีเช่นนี้ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องสร้างวินัยการเคารพเวลาให้กับตนเองให้ได้เท่านั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #การงีบหลับกลางวัน, #siesta, #qailulah

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *