“ชา” จากวัฒนธรรมสู่การเมืองและสุขภาพ ตอนที่ 10

สงครามฝิ่นที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง (ค.ศ.1839-42 และ ค.ศ.1856-60) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตลาดค้าขายใบชาอย่างมหาศาล โดยระหว่างที่อังกฤษเข้าสู่สงครามฝิ่นกับจีนครั้งแรกนั้น บริษัทอินเดียตะวันออกใหม่ (New East India Co.) ไม่สามารถจัดหาใบชาป้อนให้กับทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือได้เลย พ่อค้าอังกฤษในอินเดียจึงหาหนทางพัฒนาการเพาะปลูกชาขึ้นในอินเดียจนกระทั่งประสบความสำเร็จทั้งในอินเดียและศรีลังกา ทั้งสองประเทศจึงกลายเป็นผู้ปลูกชารายสำคัญที่ก้าวขึ้นมาแข่งขันกับจีนในเวลาต่อมา สุดท้ายได้แซงหน้าประเทศจีนทางด้านการส่งออกใบชาไปในที่สุด บุคคลสำคัญที่นำเอาการเพาะปลูกต้นชาออกจากแผ่นดินจีนเป็นผลสำเร็จคือนักพฤกษศาสตร์และนักผจญภัยชาวสก็อตชื่อ “โรเบิร์ต ฟอร์จูน” (Robert Fortune) ซึ่งเป็นผู้ที่คาดการณ์ไว้ว่าความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับจีนจะทำให้การค้าใบชาเกิดปัญหาขึ้น ใน ค.ศ.1838 ก่อนเกิดสงครามฝิ่นครั้งแรก ฟอร์จูนได้เข้าไปศึกษากระบวนการเพาะปลูกชาที่แผ่นดินจีนจากนั้นได้ลักลอบนำเอาเมล็ดชาออกจากแผ่นดินจีนเข้าสู่อินเดียโดยรัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้ฟอร์จูนแสวงหาสถานที่ปลูกชาในอินเดียได้ตามอิสระ การทดสอบดินและกระบวนการเพาะปลูกชาในอินเดียเป็นไปอย่างยากลำบาก ล้มเหลวหลายครั้งสูญเสียเงินทองไปมากมาย แต่แล้วในที่สุดด้วยความพยายามและความกล้าลงทุน พ่อค้าอังกฤษได้ประสบความสำเร็จโดยกำเนิดไร่ชาในพื้นที่มหาศาลบนยอดเขาในอินเดียกลายเป็นที่มาของชาดาร์จิลิง (Darjiling tea) และชาอีกหลายชนิดอันเลื่องชื่อในเวลาต่อมา ถึง ค.ศ.1880-81 พ่อค้าชาวอังกฤษได้ตั้งบริษัทผลิตและค้าขายใบชาขึ้น บริษัทที่โดดเด่นที่สุดและกลายเป็นบริษัทอังกฤษข้ามชาติทรงอิทธิพลในแวดวงการค้าชาของโลกในเวลาต่อมาคือบริษัท ลิปตัน (Liptons) ที่รู้จักกันในวันนี้นี่เองในส่วนของสหรัฐอเมริกาเมื่อกลายเป็นประเทศอิสระแล้วได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมการดื่มชาอย่างน้อยที่สุดสองเรื่องคือ วัฒนธรรมการดื่มชาเย็นหรือ Iced tea ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นที่งานแสดงสินค้าโลกที่จัดขึ้นที่เมืองเซนต์หลุยส์ของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1904 และแพร่หลายไปทั่วโลกนับแต่นั้น อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่สหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมคือการประดิษฐ์ชาถุงขึ้นใน ค.ศ.1908 โดยนักประดิษฐ์ชาอเมริกันชื่อนายโทมัส ซุลลิแวน (Thomas Sullivan) ชาวนิวยอร์ค ด้วยอิทธิพลของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานี่เองที่ทำให้การดื่มชากลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก การดื่มชาดำตามแบบฉบับชาวยุโรปได้รับความนิยมเหนือการดื่มชาดำ ชาอู่หลงและชาเขียวตามแบบอย่างชาวจีน โดยมีข้อมูลในปัจจุบันว่าการดื่มชาดำตามแบบฉบับอังกฤษและอเมริกันได้รับความนิยมสูงถึงร้อยละ 90 ของชาที่จำหน่ายทั่วโลก ในขณะที่การดื่มชาแบบตะวันออก ทั้งชาดำ ชาอู่หลง ชาเขียว ได้รับความนิยมน้อยกว่ามาก #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *