“ชา” จากวัฒนธรรมสู่การเมืองและสุขภาพ ตอนที่ 9

ย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องที่ฮอลแลนด์กับอังกฤษก้าวเข้ามาในวงธุรกิจชา ในส่วนของอังกฤษยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับชาติใหญ่ในเอเชียอีกสองชาตินั่นคือจีนและอินเดีย ก่อนหน้าที่อังกฤษจะมีปัญหากับชาวอาณานิคมในอเมริกาเหนือ อังกฤษได้เข้าไปยึดอำนาจของดัทช์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในนามของบริษัทอินเดียตะวันออกใหม่ (New East India Company) ดัทช์ต้องการผูกขาดการค้าเครื่องเทศ ขณะที่อังกฤษต้องการผูกขาดการค้าใบชา ทำเอาสองชาติเปิดสงครามกันเองถึงสามครั้งกระทั่งได้ข้อตกลงกันว่าดัทช์ไม่เข้ามายุ่งกับอังกฤษด้านใบชา ส่วนอังกฤษปล่อยดัทช์ค้าขายเครื่องเทศอย่างอิสระ การผูกขาดการค้าใบชาโดยไม่มีคู่แข่งของอังกฤษนั่นเองที่ทำให้ในอังกฤษเกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทของกษัตริย์กับบริษัทของรัฐสภา กระทั่งต้องรวมบริษัทกันและเริ่มขึ้นภาษีใบชาในอาณานิคม สร้างปัญหาความขัดแย้งกระทั่งนำไปสู่การจัดตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นที่อังกฤษต้องเรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาด ปัญหาใหญ่ที่ทำให้อังกฤษเพลี่ยงพล้ำในสงครามปลดแอกสหรัฐอเมริกาคือเงินในคลังที่ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว อังกฤษเห็นว่าควรเปลี่ยนวิธีการค้าใบชากับจีน เพราะวิธีการเก่าคือการใช้เงินในคลังจ่ายค่าใบชาจากจีนเช่นที่เคยทำมาแต่เดิมอันเป็นปัญหาทำให้อังกฤษเกิดวิกฤติ หากเปลี่ยนแปลงไปเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าจะทำให้อังกฤษมีเงินในคลังมากพอที่จะแก้ไขวิกฤติของประเทศได้ เหตุนี้เองอังกฤษจึงเริ่มต้นเสนอการแลกเปลี่ยนฝิ่นดิบที่ปลูกมากในอินเดียกับใบชาของจีน โดยในเวลานั้นอังกฤษครอบครองอินเดียอยู่แล้ว การขอแลกเปลี่ยนสินค้า ปรากฏว่าจีนยินยอมให้มีการค้าขายในลักษณะดังกล่าวระยะเวลาหนึ่ง ทว่าหลังจากนั้นความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อทางการจีนเห็นว่าฝิ่นของอังกฤษมีผลในการทำลายพลังการผลิตของชาวจีนลงไปมาก พลเมืองอ่อนแอลงจีนจึงสั่งระงับการแลกเปลี่ยนสินค้าในลักษณะดังกล่าว นำไปสู่การเกิดสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษและจีนขึ้นใน ค.ศ.1839 ถึง ค.ศ.1842 รบกันเกือบสี่ปี อังกฤษได้ชัยชนะในสงครามทำให้อังกฤษสามารถค้าฝิ่นให้กับทางการจีนได้ต่อไปโดยมีข้อตกลงว่าทางการจีนจะอนุญาตให้อังกฤษค้าขายฝิ่นอย่างอิสระจนถึง ค.ศ.1908ชะตากรรมของจีนในเรื่องชาแลกฝิ่นยังไม่สิ้นสุด รัฐบาลยุโรปอื่นๆและญี่ปุ่นต้องการสิทธิจากรัฐบาลจีนเช่นเดียวกับที่อังกฤษได้รับบ้าง เมื่อรัฐบาลจีนไม่ยินยอม สงครามฝิ่นครั้งที่สองจึงระเบิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1856-ค.ศ.1860 จีนเสียเวลาทำสงครามอีกสี่ปีและพ่ายแพ้อีกคำรบหนึ่ง จะเห็นได้ว่าความต้องการใบชาของชาวยุโรปที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความรุ่งเรืองให้แก่แผ่นดินจีนมากมายถึงวันหนึ่งโดยมิได้คาดคิดกลายเป็นลาภที่ไม่ควรได้ไปซะอย่างนั้นโดยใบชาสร้างความหายนะแก่จีนอย่างเหลือคณานับในเวลาต่อมา ประเด็นสงครามฝิ่นนี่เองที่จนทุกวันนี้จีนยังคงฝังใจที่จะไม่ยอมให้ชาติตะวันตกเข้ามาข่มเหงได้อีก #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ, #สงครามฝิ่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *