ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 63

สงครามโลกครั้งที่ 1 แม้อุสมานียะฮฺจะอยู่ฝ่ายแพ้ แต่ฝ่ายชนะก็ใช่ว่าจะเข้ามาบีบบังคับอุสมานียะฮฺได้ง่ายๆช่วงเวลานั้นอุสมานียะฮฺแปลงสภาพไปเป็นกลุ่มทหารกู้ชาติที่นำโดยมุสตาฟา เคมาล ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาแซเวส์ (Treaty of Sevres) ที่ฝ่ายชนะต้องการบีบบังคับให้อุสมานียะฮฺต้องปฏิบัติ เป็นต้นว่า การจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม (War indemnity) มูลค่าสูง ต้องยอมรับผิดและจ่ายค่าชดเชยกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนีย อัสซีเรีย กรีซ สูญเสียดินแดนมากมายตลอดจนข้อตกลงอีกจิปาถะ ทว่าชาวเติร์กกลับไม่ยอมแม้ลงนามยอมรับการสูญเสียทั้งหมดไปแล้ว กองทัพตุรกีกลับเลือกที่จะทำสงคราม รบกับสารพัดชาติ กว่าสงครามจะยุติกินเวลาไปสี่ปี เสียหายกันยับเยินทุกฝ่าย ในที่สุดฝ่ายชนะที่เศรษฐกิจไม่เอื้อก็ถูกบีบบังคับให้เลือกการเจรจานำไปสู่การเปลี่ยนสนธิสัญญาจากแซเวส์เป็นสนธิสัญญาโลซานน์ (Treaty of Lausanne) ที่ตุรกีไม่ต้องเสียดินแดน ส่วนที่เสียไปแล้วไม่ว่าจะเป็นบริเวณอัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง อาระเบีย ไซปรัส จำต้องปล่อยออกไป ค่าชดเชยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามไม่จำเป็นต้องจ่าย สนธิสัญญาใหม่แม้สร้างความสูญเสียให้กับชาติผู้ชนะแต่เป็นความสูญเสียในสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่มาก่อน ลงนามกันในสนธิสัญญาใหม่ ชาติที่แสดงอาการกระอักกระอ่วนมากที่สุดกลายเป็นจักรวรรดิอังกฤษที่ระหว่างสงครามเสียหน้าให้กับการปราชัยต่ออุสมานียะฮฺหลายครั้ง ลงนามครั้งใหม่กันแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างสงครามที่ไม่มีส่วนร่วมในการลงนามครั้งใหม่นี้อย่างเดวิด ลอยด์จอร์จ (David Lloy George) ถึงกับประกาศว่าสนธิสัญญาโลซานน์แสดงถึง “การยอมจำนนอย่างน่าสังเวช ขี้ขลาดและน่าอับอาย (abject, cowardly and infamous surrender) ของประเทศผู้ชนะ แต่ถึงจะบ่นอย่างไรทว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้วใครดูแผนที่ประเทศสาธารณรัฐตุรกีจะเห็นแผ่นดินลักษณะจงอยที่ยื่นเข้าไปในประเทศซีเรีย ดินแดนส่วนนี้เรียกว่า “ฮาเทย์” (Hatay) เป็นส่วนที่ฝรั่งเศสรับไว้เพื่อดูแลชั่วคราวพร้อมกับแผ่นดินซีเรียและเลบานอน เมื่อฝรั่งเศสปลดปล่อยซีเรียและเลบานอนให้เป็นอิสระตามข้อตกลงใน ค.ศ.1938 ดินแดนฮาเทย์กลายเป็นประเทศใหม่ตามสองประเทศนั้นด้วย ทว่าในปีต่อมา ประชาชนในพื้นที่ลงมติที่จะกลับมารวมกับสาธารณรัฐตุรกีจึงทำให้ดินแดนที่อยู่นอกคาบสมุทรอะนาโตเลียแห่งนี้กลับมาเป็นของตุรกีอีกครั้งส่วนที่ยกเว้นเห็นจะเป็นบรรดาสารพัดเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่งตุรกีทว่ากลับเป็นของกรีซตามข้อตกลงซึ่งตุรกีมองไม่เห็นประเด็นที่จะขอคืนทั้งนี้เนื่องจากประชากรบนเกาะเหล่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นคนกรีก อย่างที่รู้กันคือแผ่นดินอะนาโตเลียก่อนตกเป็นของชนเติร์กในศตวรรษที่ 12-13 เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชนกรีกมาก่อน เมื่อชนเติร์กรุกไล่เข้ามา ชนกรีกอพยพออกจากพื้นที่ เหลือแต่เกาะใกล้ชายฝั่งที่ชนเติร์กไม่คิดจะเข้าไปยึดครอง เป็นผลให้เกาะเกือบทั้งหมดยังเป็นของกรีซแม้จะอยู่ใกล้แผ่นดินตุรกีก็ตามที #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *