ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 62

มีสองคำถามที่น่าสนใจสำหรับสาธารณรัฐตุรกีหรือตุรกียุคใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นแทนที่จักรวรรดิอุสมานียะฮฺ (Ottoman empire) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ค.ศ.1914-1918 คำถามแรกคือเหตุใดตุรกีในฐานะประเทศกำลังพัฒนาในศตวรรษที่ 21 จึงไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกเลย คำถามที่สองคือเหตุใดตุรกีในฐานะที่เคยเป็นมหาอำนาจและจักรวรรดิเช่นเดียวกับชาติตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18-19 จึงไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นชาติพัฒนาระดับสูงเช่นเดียวกับชาติตะวันตกได้เลยจนถึงเวลานี้คำตอบสำหรับคำถามแรกไม่ซับซ้อนเช่นคำถามที่สอง เมื่อพิจารณาจากสนธิสัญญาแซเวส์ (Treaty of Savres) ที่จัดทำขึ้นระหว่างจักรวรรดิอุสมานียะฮฺกับประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 หากสาธารณรัฐตุรกีที่ถือกำเนิดขึ้นเวลานั้นยินยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่เอาเปรียบอย่างมาก ตุรกีในวันนี้ย่อมมีสถานะที่ไม่ต่างจากเมืองขึ้นของชาติตะวันตกผู้ชนะสงครามทั้งยังเหลือพื้นที่ประเทศเพียงหนึ่งในสามของพื้นที่ปัจจุบันไม่นับการไม่มีพื้นที่ออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกต่างหาก ทว่าเวลานั้นตุรกีไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวทั้งตัดสินใจใช้สงครามในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในการเปลี่ยนแปลง ความเข้มแข็งควบคู่กับจิตวิญญาณของการเป็นนักสู้ที่ยังมีอยู่เต็มเปี่ยมของชนเติร์กนำไปสู่โต๊ะเจรจาที่ชาติผู้ชนะยินยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่คือสนธิสัญญาโลซานน์ (Treaty of Lausanne) ที่เป็นธรรมมากขึ้น สิ่งนี้เองจึงทำให้ตุรกีรักษาเอกราชมาได้จนทุกวันนี้คำตอบสำหรับคำถามที่สองซับซ้อนกว่าคำถามแรกมากและยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ ตุรกีในศตวรรษที่ 21 นับเป็นชาติกำลังพัฒนาระดับสูงแต่ยังไม่ถึงระดับชาติพัฒนาแล้ว มีดัชนีชี้วัดหลายตัวที่นับการเป็นชาติพัฒนาทั้งเรื่องรายได้ต่อหัวประชากร คุณภาพของการศึกษา การสาธารณสุข การกระจายความเจริญในพื้นที่ต่างๆ มีผู้พยายามอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้ตุรกีไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประกอบไปด้วยหลายเหตุผล ที่น่าสนใจคือเหตุผลที่ว่าการเป็นสังคมพัฒนาแล้วต้องพิจารณาถึงความยั่งยืนของการพัฒนา นับเพียงรายได้ต่อหัวประชากรโดยละเลยคุณภาพของการศึกษาและสังคมย่อมไม่ได้ จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในประเทศที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่เป็นของตนเอง ระบบการศึกษาที่จัดขึ้นในปัจจุบันยังมีคุณภาพไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ศึกษาสร้างนวัตกรรมขึ้นได้ด้วยตนเอง เอกเมเลดดิน อิฮฺซานโนลู เลขาธิการโอไอซีชาวตุรกี ระบุว่าระหว่างศตวรรษที่ 18-19 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺส่งนักวิชาการจำนวนมากไปศึกษาในยุโรปตะวันตก สิ่งที่ได้รับกลับมาคือองค์ความรู้เช่นเดียวกับโลกตะวันตกทว่าไม่สามารถรับเอา “วัฒนธรรมการทำวิจัยและการตั้งคำถาม” (Cultures of research and inquiry) กลับมาการนำประเทศไปสู่การเป็นสังคมพัฒนาแล้วต้องพร้อมทั้งเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ในการสร้างเทคโนโลยีนั้นสังคมจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามที่ฉลาดเพื่อสามารถพัฒนาวิจัยนวัตกรรมด้วยตนเอง สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ต้องสร้างขึ้นให้ได้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *