ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 61

ความที่ไปประเทศตุรกีหลายครั้ง เดินทางไปหลายเมืองจึงเห็นภาพอะตาเติร์ก (Ataturk) หรือบิดาแห่งตุรกีซึ่งก็คือมุสตาฟา เคมาล ปาชา ติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆอยู่บ่อยทำให้รู้ว่าคนตุรกีให้ความรักและเคารพมุสตาฟา เคมาล สูงมาก ขณะเดียวกันยังได้เห็นทั้งคนตุรกีบางคนและคนต่างประเทศรวมทั้งคนไทยวิพากษ์วิจารณ์มุสตาฟาล เคมาล ในเชิงลบโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านศาสนาซึ่งเป็นเรื่องปกติของรัฐบุรุษที่มีทั้งคนรักและคนชัง มุสตาฟา เคมาล เกิดใน ค.ศ.1881 ที่เมืองซาโลนิกา (Salonika) ซึ่งเวลานี้อยู่ในเขตประเทศกรีซ เคมาลร่ำเรียนทางด้านทหารมาตลอดจึงเข้าประจำการในกองทัพ ความที่จักรวรรดิเกิดปัญหาความไม่สงบในดินแดนต่างๆหลายครั้ง เคมาลจึงได้มีโอกาสแสดงฝีมืออยู่บ่อยๆ เคยรบทั้งในบอลข่านและในอัฟริกาสร้างวีรกรรมไว้มากมาย กระทั่งอุสมานียะฮฺเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เคมาลได้รับมอบหมายให้รบในศึกใหญ่คือศึกแห่งกัลลิโพลี ที่นี่เองที่กลายเป็นมหาสงครามที่สร้างชื่อระบือลือลั่นให้กับเคมาลในความชาญฉลาดและเด็ดเดี่ยวหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อุสมานียะฮฺพ่ายแพ้ จักรวรรดิต้องสูญเสียดินแดนมากมาย ทหารในกองทัพกลับพากันกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับ ใน ค.ศ.1919 เคมาลได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายทหารและการเมืองให้เป็นทั้งผู้นำกองทัพและรัฐสภา เคมาลจึงประกาศไม่ยอมรับสนธิสัญญาแซเวส์ที่อุสมานียะฮฺเสียเปรียบอย่างยิ่งต่อประเทศผู้ชนะสงคราม ทำให้สงครามต้องกลับมาเริ่มกันอีกครั้งจบลงด้วยชัยชนะของกองทัพตุรกีที่แปรสภาพไปเป็นกองทัพปลดปล่อยไปแล้ว เข้าปลายปี 1923 เกิดสาธารณรัฐตุรกีขึ้น เคมาลได้รับเลือกท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ ระบบสุลตานระบบคีลาฟะฮ์รวมทั้งจักรวรรดิอุสมานียะฮฺถูกล้มเลิกทั้งหมด ปีต่อมาคือ ค.ศ. 1934 เคมาลได้รับการแต่งตั้งเป็นอะตาเติร์กคนแรกและคนเดียวของตุรกีเพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นชาติพัฒนาเช่นเดียวกับชาติยุโรป เคมาลบริหารประเทศด้วยระบอบที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระบอบเคมาล” (Kemalism) แยกศาสนาออกจากการเมืองทั้งหมด นำเอาความเป็นชาตินิยมตุรกีมาใช้ อิสลามเป็นศาสนาที่นับถือเฉพาะตัวบุคคลไม่มีอยู่ในรัฐพิธี ภาษาอาหรับถูกยกเลิก ระบบการศึกษาถูกเปลี่ยน การปกครองเป็นแบบวิสัยนิยมหรือเซคิวลาร์ (Secularism) เต็มรูปแบบ เคมาลอายุไม่ยืนยาวนัก วัย 57 ปีท่านก็เสียชีวิต กองทัพเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการเมือง ระบอบเคมาลที่ใช้มานานเกือบร้อยปีกลับไม่สามารถเปลี่ยนตุรกีให้เป็นชาติพัฒนาหรือแม้กระทั่งชาติยุโรปเช่นที่เคยคาดหวังไว้ได้ สุดท้ายด้วยความประสงค์ของประชาชนในที่สุดตุรกีค่อยๆเปลี่ยนกลับไปเป็นประเทศมุสลิมที่ปกครองโดยพรรคการเมืองที่นิยมแนวทางศาสนา แต่ไม่ว่าจะเดินไปในเส้นทางไหน ปกครองโดยพรรคใด ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺยังคงเป็นตราประทับและเป็นความฝันของผู้คนในประเทศนี้ ความกล้าบ้าบิ่นตามแบบฉบับชนเติร์กยังคงไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดไม่เคยจางหายไปไหน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *