ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 39

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเปลี่ยนชื่อออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺจากรัฐ (Ottoman beylik) เป็นจักรวรรดิ (Ottoman empire) ใน ค.ศ.1354 เมื่อสุลต่านออร์ฮันที่ 1 ข้ามทะเลมาร์มาราขยายดินแดนเข้าไปในยุโรป เรื่องนี้ไม่ใช่ความบังเอิญโดยสุลต่านออร์ฮันที่ 1 ทรงเดินตามพระประสงค์ของสุลต่านออสมันที่ 1 ที่แม้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ยังทรงใฝ่ฝันถึงการสร้างจักรวรรดิสำหรับชนเติร์กและผลักดันโอรสคือสุลต่านออร์ฮันที่ 1 ให้เป็นนักการศึกษาพร้อมการเป็นนักรบ สุลต่านออร์ฮันที่ 1 ทรงจัดตั้งสถาบันการศึกษา (Madrasah) ขึ้นเป็นแห่งแรกที่เมืองอิซนิก (Iznik) ใน ค.ศ.1331 บุคคลที่เข้าเรียนคัดเลือกจากผู้ประสงค์ศึกษาต่อในสายสามัญที่ครอบคลุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษามีไม่มากเนื่องจากช่วงเวลานั้นอิทธิพลของฝ่ายศาสนาอิสลามมีสูง ผลักดันการศึกษาด้านศาสนาก่อนการศึกษาด้านอื่น ขณะที่สุลต่านทรงเห็นว่าการรักษาความเป็นจักรวรรดิกระทำได้ด้วยพลังทางเศรษฐกิจที่พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีทางทหารเท่านั้นในความเป็นนักการศึกษา สุลต่านออร์ฮันที่ 1 ว่าทรงทำได้ดีแล้ว สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 กลับทำได้ดีกว่า การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่นับความเป็นจักรวรรดิของอุสมานียะฮฺไว้ในปีนั้น สุลต่านทรงเห็นว่าการรบด้วยทหารม้าและทหารราบไม่สามารถเอาชนะกำแพงสูงใหญ่ของคอนสแตนติโนเปิลได้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีปืนใหญ่ซึ่งเป็นของชาวฮังกาเรียน ทรงตระหนักตั้งแต่ครั้งนั้นว่าชาวยุโรปเริ่มแซงหน้าโลกอิสลามไปแล้วทางด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาปืนใหญ่หรือกองทัพเรือซึ่งในสงครามครั้งนั้นเรือของอุสมานียะฮฺไม่สามารถเอาชนะเรือของชาวเวนิสที่มีขนาดใหญ่โตกว่าได้เลย ดังนั้นเมื่อได้ชัยชนะแล้วสิ่งที่สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ทรงกระทำไปพร้อมกับการขยายอาณาจักรหลังจากนั้นคือการพัฒนาระบบการศึกษาAmmalina Dalillah Mohd Isa และ Roziah Sidik แห่งมหาวิทยาลัย UKM มาเลเซีย เขียนงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Mediterranean Journal of Social Sciences ค.ศ.2014 กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัชสมัยของสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ว่าพระองค์ทรงตระหนักถึงความล้าหลังของ จักรวรรดิอุสมานียะฮฺทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นในศตวรรษที่ 10-13 โลกอิสลามก้าวหน้ากว่ายุโรปมาก การถ่ายทอดวิทยาการจากโลกอิสลามสู่ยุโรปเกิดขึ้นผ่านทางเกาะซิซิลีและเลแวนท์โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงครามครูเสด การแปลตำรับตำราทางวิชาการภาษาอาหรับเป็นภาษายุโรปเกิดขึ้นมากในศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โลกอิสลามในศตวรรษที่ 13 หลังการล่มสลายของแบกแดด จนกระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงเวลาที่โลกอิสลามคล้ายถูกแช่แข็ง หากยังล่าช้าอยู่ จักรวรรดิอุสมานียะฮฺที่สู้อุตส่าห์สร้างขึ้นกระทั่งเกิดขึ้นในเวลานั้นย่อมรักษาไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ยุคหลังจากนั้นฟ้องว่าแม้ทรงมีวิสัยทัศน์ถูกต้องทว่ามีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถขจัดได้ อุสมานียะฮฺดำเนินการช้าเกินไปกระทั่งไล่ตามชาติยุโรปไม่ทันแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *