ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 38

การจัดตั้งประเทศตุรกีในคาบสมุทรอะนาโตเลีย นักประวัติศาสตร์ตุรกียกเครดิตให้กับผู้นำชนเติร์กในอดีตหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเออร์ทูรุลกับสุลต่านออสมันที่ 1 ความที่ชนเติร์กในอดีตเป็นชนเร่ร่อน การศึกษาต่ำ บันทึกเรื่องราวของทั้งเออร์ทูรุลและออสมันจึงแทบไม่ปรากฏ ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวนับร้อยตอน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงถูกประพันธ์ขึ้นในยุคหลังแทบทั้งสิ้น เรื่องราวของเมฮฺเมดที่ 2 สุลต่านผู้พิชิตหรือฟาติฮฺ (Fatih) ซึ่งนับเป็นสุลต่านผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺจัดสร้างเป็นภาพยนตร์หลายตอนจบฉายกันทาง Netflix หลายส่วนไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ที่เล่าขานเช่นเดียวกันพระนามเมฮฺเมดหมายถึงมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รอซูลุลลอฮฺในศาสนาอิสลาม เมื่อชนเติร์กรับอิสลามเกิดความนิยมนำชื่อภาษาอาหรับมาใช้เป็นชื่อตน ยกเว้นชื่อมุฮัมมัดที่แปลงเป็นเมฮฺเมด สุลต่านเมฮฺเมดที่สองประสูติใน ค.ศ.1432 เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของสุลต่านมูรอดที่ 2 กับนางสนมชาวสลาฟ ได้รับการศึกษาในสาขาต่างๆจากครูชั้นยอดในยุคนั้น เมฮฺเมดจึงทรงภูมิปัญญา เป็นผู้รู้รอบด้าน พูดได้หลายภาษา ชาญฉลาด เคร่งศาสนา เรื่องราวของเมฮฺเมดที่สองจึงนับเป็นสุลต่านที่มีสีสันมากที่สุดพระองค์หนึ่งใน ค.ศ.1444 เมื่อเมฮฺเมดมีพระชนมายุ 12 ชันษาทรงสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาที่ทรงอ่อนล้ากับการศึกภายนอกและการเมืองภายใน เพียงปีแรกในรัชกาลเมฮฺเมดที่สอง สันตะปาปายูจีนที่สี่ (Eugene IV) ฉีกสัญญาที่ทำไว้กับสุลต่านมูรอดที่สองนำทัพครูเสดรุ่นใหม่ทำศึกกับอุสมานียะฮฺ ช่วงเวลานี้เองที่จานิสซารีใหญ่อย่างแกรนด์วีเซียร์ฮาลิล จันดาร์ลี (Halil Candarli) เอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้อง มูรอดกลับมาช่วยสุลต่านน้อยในการทำศึก ค.ศ.1444 หนึ่งปีหลังจากนั้นเมฮฺเมดถูกจันดาร์ลีกดดันให้คืนบัลลังก์แก่มูรอด พระองค์เองคล้ายถูกเนรเทศไปอยู่เมืองชายแดน ความขัดแย้งระหว่างเมฮฺเมดกับจันดาร์ลีเห็นชัดเจนในภาพยนตร์ ทว่าเรื่องราวการทำศึกตลอดจนการเข้ายึดคอนสแตนติโนเปิลปิดตำนานจักรวรรดิไบแซนไทน์ทำให้สุลต่านเมฮฺเมดที่สองทรงได้รับการยกย่องในฐานะราชันย์ผู้พิชิต (The Conqueror) ส่วนที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ฟังจากนักประวัติศาสตร์ชาวเติร์กเมื่อครั้งไปเยี่ยมเยียนอายาโซเฟีย (Hagia Sophia) สักเท่าไหร่สุลต่านเมฮฺเมดที่สองในวัย 21 ชันษาทรงใช้ทหาร 8 หมื่นนายกับเวลาสองเดือนทำศึกชิงคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 กลศึกของพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งย้ายเรือกว่า 70 ลำข้ามแผ่นดินเข้าไปในแหลมโกลเดนฮอร์นได้รับการยกย่องจากนักการทหารอย่างมาก เมื่อได้ชัยชนะนำทัพเข้าสู่เมือง พระองค์ทรงปลดปล่อยพระ ชาวเมืองรวมทั้งทหาร ทั้งทรงสั่งสร้างโบสถ์ใหญ่แห่งใหม่ทดแทนอายาโซเฟีย ทรงคืนตำแหน่งให้สังฆราชออร์โธดอกและบรรดาราชาคณะ สุลต่านเมฮฺเมดที่สองเมื่อเสด็จเข้าสู่โถงของอายาโซเฟียทรงถอดหมวกถอดเกราะวางดาบและทำละหมาดสองรอกะอัตเพื่อให้เกียรติต่อสถานที่ จุดที่ทรงละหมาดครั้งนั้นมีการจัดทำเป็นสัญลักษณ์ไว้กลางโถงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ บุคลิกภาพที่แสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ช่างน่าเสียดายไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของ Netflix เลย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *