ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 40

สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 นอกจากจะทรงเป็นนักรบแล้วยังเป็นนักการศึกษาอีกด้วย ก่อนหน้านั้นนานหลายทศวรรษจักรวรรดิเกิดปัญหาความไม่มั่นคงอันสืบเนื่องมาจากความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิทิมูริดใน ค.ศ.1402 ในรัชสมัยสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 จึงทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยมากขึ้นเนื่องจากยุโรปในเวลานั้นอยู่ในบรรยากาศของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือเรเนสซองค์ (Renaissance) เกิดการฟื้นตัวด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ทรงเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงทรงสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา งานวิจัยด้านราชนาวี งานบริหารจัดการดินแดนที่ได้รับเพิ่มเติมมาใหม่จากการขยายจักรวรรดิโลกอิสลามเคยก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสูงสุดมาก่อนแล้วในยุคอับบาสิยะฮฺกระทั่งกลายเป็นฐานให้กับการพัฒนายุโรปในยุคต่อมา ทว่าความรู้มากมายกลับถูกทำลายลงจากการล่มสลายของแบกแดดใน ค.ศ.1258 ต่อมาในยุคสมัยเซลจุก ศตวรรษที่ 11-12 มีความพยายามฟื้นฟูวิชาการจำนวนหนึ่ง ทั้งช่วงแรกของอุสมานียะฮฺในรัชสมัยสุลต่านออร์ฮันที่ 1 ทรงพยายามฟื้นฟูระบบการศึกษาทว่าทั้งหมดกลับสะดุดจากศึกสงคราม ทำให้การพัฒนาหยุดลง สุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ทรงพยายามฟื้นฟูศิลปะวิทยาการขึ้นอีกครั้ง บางส่วนทรงเลียนแบบการดำเนินงานของสถาบัน “ไบตุลฮิกมะฮฺ” (Baitul Hiqmah) ในยุคอับบาสิยะฮฺนั่นคือรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในพื้นที่ต่างๆมาไว้ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงใหม่ เมืองหลวงแห่งนี้ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อิสตันบุล” (Istanbul) ในรัชสมัยสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆที่เคยรุ่งเรืองในจักรวรรดิอิสลามยุคก่อน ได้แก่ การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนา ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง ทั้งยังมีการพัฒนาวิทยาการสาขาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การทำแผนที่หรือการนาวี ผลพวงของการพัฒนาวิทยาการสาขาต่างๆเห็นประโยชน์ชัดเจนขึ้นในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยสุลต่านสุลัยมานที่ 1 จอมมหัศจรรย์ (Suleiman I The Magnificent) ช่วง ค.ศ.1520-1566 ที่ทรงขยายจักรวรรดิและพัฒนาศิลปะวิทยาการไปพร้อมๆกันกระทั่งทำให้จักรวรรดิอุสมานียะฮฺกลายเป็นจักรวรรดิที่ก้าวหน้าที่สุดในช่วงเวลานั้นทั้งด้านศิลปวิทยาการรวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยในยุคเรืองรองทางปัญญา (Age of Enlightenment) ช่วงศตวรรษที่ 17-18 การพัฒนาด้านวิทยาการในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺเผชิญการท้าทายอย่างหนัก ยุโรปเวลานั้นก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺถูกทิ้งห่างจากยุโรปอีกครั้ง ขณะที่ชาติยุโรปต่างพาเหรดเข้าสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรม อุสมานียะฮฺยังคงมีรายได้หลักอยู่กับการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ แม้มีความพยายามเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงหลังทว่าการพัฒนาในยุโรปและอเมริกาเวลานั้นกลับกลายเป็นความเร่งไปแล้ว นั่นเองที่ทำให้ยุคเสื่อมของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺก้าวเข้ามาเร็วขึ้นอย่างที่เห็นในเวลาต่อมา #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *