ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 37

ภายหลังการจัดตั้งรัฐอุสมานียะฮฺกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นจักรวรรดิ รัชกาลเปลี่ยนจากออร์ฮันมาเป็นมูรอดที่ 1 ความไม่ไว้วางใจกันในหมู่ชนเติร์กซึ่งมาจากต่างเผ่ายังคงอยู่ไม่หายไปไหน เป็นเหตุผลให้สุลต่านมูรอดที่ 1 เริ่มกระบวนการเกณฑ์ทหารที่ต่างออกไปจากระบบเดิมอันเป็นที่มาของระบบ “จานิสซารี” (Janissary) ที่แปลว่าทหารใหม่ ทหารมุสลิมเติร์กแม้เป็นทหารหลัก ทว่าทหารที่แวดล้อมสุลต่านกลับเป็นจานิสซารีที่สร้างขึ้นโดยนำเด็กชายมาจากชุมชนชาวคริสต์ในคาบสมุทรบอลข่านเปลี่ยนมาเป็นมุสลิมก่อนถูกเลี้ยงถูกฝึกในโรงเรียนทหารกระทั่งเข้าวัยฉกรรจ์จึงกลายมาเป็นทหารจานิสซารีอยู่ข้างกายสุลต่าน ได้รับความไว้วางใจมากกว่าทหารทั่วไป เมื่อถูกฝึกมากเข้าทำงานนานเข้าด้วยความซื่อสัตย์มั่นคงต่อสุลต่านจึงได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นขุนนางในราชสำนัก ก้าวหน้ากันอย่างนั้นจึงส่งผลให้ระยะหลังแทบไม่ต้องใช้วิธีการเกณฑ์ผ่านระบบภาษีโลหิตหรือ Devshirme ที่ชาวบ้านต้องใช้บุตรชายของตนเองมาจ่ายแทนภาษีอีกเลยการเกณฑ์แม้กระทั่งลักขโมยเด็กชายมาฝึกเป็นทหารในพื้นที่แถบอะนาโตเลียและเอเชียกลางเกิดขึ้นมานาน ระบบนี้ในเอเชียกลางเรียกว่า “มัมลุก” (Mamluk) หาคนหนุ่มมาเป็นทหารทาส ส่วนใหญ่เป็นทหารม้าเนื่องจากชนเติร์กเผ่ากิบชักในเอเชียกลางต้นกำเนิดของเด็กหนุ่มเหล่านี้เชี่ยวชาญการใช้ม้า เมื่อมีกองกำลังมากขึ้นมัมลุกในบางจักรวรรดิจึงก่อรัฐประหารยึดอำนาจสร้างราชวงศ์เป็นของตนเองเช่นที่เกิดกับราชวงศ์อัยยูบิดในอียิปต์และอีกหลายราชวงศ์ในเอเชียกลางก่อนหน้านั้น จักรวรรดิอุสมานียะฮฺเมื่อนำระบบคล้ายคลึงกันมาใช้จึงเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการเสียใหม่จากทหารม้าให้เป็นทหารราบรักษาพระองค์นำมาไว้ใกล้ตัว ปูนบำเหน็จตามควร ปะเหมาะเคราะห์ดียังสามารถมีครอบครัวก้าวข้ามขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาสุลต่านหรือแม้กระทั่งเป็นขุนนางใกล้ตัวสุลต่านได้ จานิสซารีใส่หมวกทรงสูงติดขนนก ชุดทหารมีสีสันแปลกตาจากทหารทั่วไป มีศักยภาพด้านการใช้อาวุธถึงวันหนึ่งเมื่อมีอำนาจมากขึ้นจานิสซารีจึงสร้างปัญหาขึ้นได้บ้างเป็นครั้งเป็นคราวหลังพ่ายศึกแห่งอังการา ค.ศ.1402 กว่าราชวงศ์อุสมานียะฮฺจะเริ่มมีอำนาจเข้าที่เข้าทางได้ก็ถึง ค.ศ.1421 รัชสมัยมูรอดที่ 2 สุลต่านผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่งที่ค่อยๆรวบรวมดินแดนที่เคยเป็นของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺคืนกลับมา ทั้งพยายามกวาดล้างอิทธิพลของจักรวรรดิทิมูริดในอะนาโตเลียและเอเชียกลางด้านตะวันตกซึ่งเวลานั้นปกครองโดยราชบุตรของติมูรทั้งนี้เพื่อล้างอายให้สมเด็จปู่คือสุลต่านบัยเยซิดที่ 1 กระทั่ง ค.ศ.1444 แม้มูรอดที่ 2 ยกบัลลังก์ให้กับโอรสคือสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 แล้วยังร่วมมือกันเอาชนะทัพครูเสดในแผ่นดินบอลข่านได้ในการศึกแห่งวาร์นา (Battle of Varna) ฤทธิ์เดชของจานิสซารีเริ่มปรากฏเมื่อวิเซียร์ใหญ่ฮาลิล จันดาร์ลี (Halil Candarli) ไม่วางใจสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ปกครองได้เพียงสองปี ถึง ค.ศ.1446 จันดาร์ลีใช้กำลังของจานิสซารีในสังกัดกดดันให้สุลต่านมูรอดที่ 2 ทวงบัลลังก์คืนจากโอรส นี่เองที่กลายเป็นแค้นฝังหุ่นระหว่างสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 กับจันดาร์ลีกระทั่งถึงเวลาเช็คบิลเมื่อสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 กลับมาครองบัลลังก์และนำทัพยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จใน ค.ศ.1453 ใครอยากชมลองไปติดตามดูในภาพยนตร์ทางทีวีจาก Netflix เรื่อง Rise of Empires – Ottoman กันเอาเอง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *