ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 36

นักประวัติศาสตร์วิพากษ์ถึงครึ่งศตวรรษแห่งความถดถอยของ #จักรวรรดิออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺระหว่าง ค.ศ.1402-1453 ไว้มากโดยนับจากความพ่ายแพ้ของกองทัพอุสมานียะฮฺภายใต้การนำของสุลต่านบาเยซิดที่ 1 ต่อกองทัพเติร์ก-มองโกลแห่งจักรวรรดิทิมูริดภายใต้การนำของติมูร์หรือ #ทาเมอร์เลน (#Tamerlane) จนกระทั่งถึงการฟื้นตัวของอุสมานียะฮฺอีกครั้งจากการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 ความพ่ายแพ้ของอุสมานียะฮฺ ค.ศ.1402 ใน #การศึกแห่งอังการา (Battle of Ankara) สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อจักรวรรดิอุสมานียะฮฺที่เวลานั้นกำลังเติบโตอย่างมาก เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิที่สุลต่านถูกจับเป็นเชลยกระทั่งสิ้นพระชนม์ชีพในเวลาต่อมา มีเรื่องราวมากมายในช่วงนี้ บ้างว่าทรงได้รับเกียรติจากติมูร์ บ้างว่าถูกหยามเกียรติถึงขนาดนำสุลต่านขังไว้ในกรงทองที่เตรียมไว้ กระทั่งสิ้นพระชนม์ชีพในวัยเพียง 42 ชันษา ย้อนเวลากลับไปสุลต่านบาเยซิดที่ 1 ทรงสร้างกองทัพยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปเวลานั้น ทรงทำสงครามได้ชัยชนะทั่วบอลข่าน ทรงสร้างมัสยิดและศูนย์การศึกษาแห่งแรกของอุสมานียะฮฺแต่กลับเสียทีแก่กลศึกตามแบบฉบับมองโกลของจอมจักรพรรดิเติร์ก-มองโกลอย่างติมูรทั้งการทำลายแหล่งน้ำ การแสร้งแพ้ การใช้ธนูยาวแบบมองโกล สำคัญคือความโหดเหี้ยมต่อศัตรูชนิดขาดความรู้สึกของความเป็นชนเติร์กด้วยกัน หรือแม้แต่มุสลิมด้วยกัน ติมูร์ในหน้าประวัติศาสตร์จึงเหี้ยมเกรียมยิ่งกว่าเจงกิสข่านมากสิ่งที่ติมูร์กระทำต่อผู้พ่ายแพ้คือทำลายโดยไม่คิดจะปกครอง หลังชัยชนะต่ออุสมานียะฮ 3 ปี ติมูร์จึงสิ้นพระชนม์ระหว่างยกกองทัพเข้าทำลายอินเดีย ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสำหรับจอมจักรพรรดิเติร์ก-มองโกลพระองค์นี้นอกจากการทำลายล้างผู้คนไปกว่า 17 ล้านชีวิต ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่มีศรัทธาเดียวกับติมูร์นั่นเอง นักประวัติศาสตร์ด้านตุรกีศึกษาตำหนิการกระทำของติมูร์ต่ออุสมานียะฮฺอย่างมากโดยสงคราม ค.ศ.1402 ได้หยุดการเติบโตของอุสมานียะฮฺไว้ไม่น้อยกว่า 50 ปี เป็นช่วงเวลาที่อุสมานียะฮฺเสียไปกับการรวบรวมจักรวรรดิให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง กระทั่งสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 (Mehmed II) ได้ชัยชนะต่อคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 แล้วนั่นแหละจึงเริ่มนับหนึ่งสำหรับจักรวรรดิอุสมานียะฮฺกันใหม่ คล้ายเสียเวลา 50 ปีไปเฉยๆสิ่งที่ตามมาจากความพ่ายแพ้ใน ค.ศ.1402 คือจักรวรรดิแตกเป็นสองเสี่ยงใหญ่และอีกหลายเสี่ยงย่อย เกิดอาณาจักรอุสมานียะฮฺส่วนอะนาโตเลียตะวันตกกับส่วนบอลข่านที่เรียกกันว่ารูมีเลีย (Rumelia) หรือดินแดนที่เป็นโรมันเดิมในยุโรปตะวันออก เข้าสู่รัชสมัยของสุลต่านเมฮฺเมดที่ 1 ใน ค.ศ.1413 แม้นำตำแหน่งสุลต่านกลับคืนมาได้ อุสมานียะฮฺก็ยังคงแตกแยกอยู่อย่างนั้น เข้ารัชสมัยของสุลต่านมูรอดที่ 2 ความวุ่นวายยังไม่จบ บรรดาขุนนางรอบองค์สุลต่านที่มีแกนนำคือวิเซียร์ใหญ่ฮิลาล จันดาร์ลี (Grand Vizier Hilal Candarli) ใช้กองกำลังที่เรียกกันว่า “จานิสซารี” (Janissary) ต่อรองอำนาจทางการเมืองการปกครอง ถึงรัชสมัยสุลต่านเมฮฺเมดที่ 2 ความวุ่นวายยังคงอยู่ ความชาญฉลาดของเมฮฺเมดที่ 2 คือใช้สงครามภายนอกสร้างสามัคคีภายในโดยลงทุนสร้างกองทัพใหญ่ทำศึกกระทั่งได้ชัยชนะต่อคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 ทำอย่างนั้นจึงช่วยให้จักรวรรดิอุสมานียะฮฺเริ่มเดินหน้าได้อีกครั้ง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *