ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 33

บุรุษผู้สถาปนารัฐออตโตมัน (Ottoman beylik) หรือเรียกในภาษาอาหรับว่าอุสมานียะฮฺคือ “ออสมัน ฆาซี” (Osman Ghazi) บุตรของเออร์ทูรุล (Ertugrul) ชื่อออสมันนั้นเรียกตามภาษาอาหรับที่อาจเรียกว่าอุสมาน (Usman) ได้เช่นกัน ขณะที่ภาษาเติร์กเก่าเรียกออสมันว่า “ออตมัน” (Uthman) ชื่อหลังนี้นิยมอ่านเป็น“ออตตะมัน” อันเป็นที่มาของชื่อ “จักรวรรดิออตโตมัน” (Ottoman empire) ขณะที่เรียกคนตุรกียุคเก่าว่า “ออตโตมานี” (Ottomani) ในบทความนี้ขอเรียกตามภาษาอาหรับ โดยเรียกผู้สถาปนาว่าออสมัน และชื่อจักรวรรดิหรือรัฐว่า “อุสมานียะฮฺ” ออสมันมีวิสัยทัศน์ต่างจากบิดาคือเออร์ทูรุลที่เน้นการรักษาสถานะของชุมชนคายีไว้ ออสมันมองไปที่ชุมชนเติร์กในภาพรวม เมื่อรัฐสุลต่านแห่งรุมล่มสลาย ชุมชนหรือเบลิกเติร์กแตกออกเป็นเผ่าเล็กๆ ออสมันเห็นว่าต้องเร่งสร้างผลประโยชน์ร่วมของชุมชนเติร์กให้ได้เสียก่อน เริ่มต้นด้วยการสร้างสนธิสัญญาระหว่างชุมชนเติร์กว่าจะไม่เป็นศัตรูต่อกัน โดยกำหนดศัตรูร่วมขึ้น ได้แก่ มองโกลทางด้านตะวันออกของอะนาโตเลีย ไบแซนไทน์ทางด้านตะวันตก ครูเสดที่กระจายทั่วไปในอะนาโตเลียและตะวันออกกลางเวลานั้นเบลิกเติร์กแต่ละแห่งรวมทั้งเผ่าคายีแข่งกันขยายพื้นที่ ภูมิรัฐศาสตร์ของเผ่าคายีที่มีที่ตั้งห่างออกมาจากการรบกวนของมองโกลทำให้ออสมันนำเผ่าคายีสร้างความสำเร็จในการขยายดินแดนเข้าไปในพื้นที่ของไบแซนไทน์ที่กำลังอ่อนแอได้มาก เมื่อยึดคืนพื้นที่จากครูเสดได้อีก ศรัทธาต่อเผ่าคายียิ่งมีมากขึ้น เป็นผลให้สมาพันธ์เผ่าเติร์กที่มีเผ่าคายีเป็นแกนนำเกิดขึ้นได้รวดเร็วทั้งเปลี่ยนชื่อเรียกตามชื่อของผู้นำว่าออตตะมันเบลิกหรือ “รัฐอุสมานียะฮฺ” ก่อนขยายพื้นที่เข้าไปในยุโรปส่วนคาบสมุทรบอลข่านกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นจักรวรรดิอุสมานียะฮฺในที่สุดนักประวัติศาสตร์ยกย่องออสมันที่กล้าเปลี่ยนความมุ่งมั่นของบิดาที่จะรักษาเผ่าคายีไว้ กล้ามองข้ามไปถึงชนเติร์กที่กระจัดกระจายเป็นเผ่าต่างๆนับพันเผ่าที่ต้องหนีตายจากการล้างผลาญของเผ่ามองโกลที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารในเอเชียกลางเวลานั้น บิดาของออสมันนำเผ่าคายีหนีเข้าสู่คาบสมุทรอะนาโตเลียเพื่อเสาะแสวงหาความสุขสงบแต่กลับพบศัตรูมากขึ้นทั้งครูเสด ไบแซนไทน์ มองโกล รวมถึงชนกลุ่มอื่นหรือแม้กระทั่งชนเติร์กด้วยกันที่ต่างแก่งแย่งผลประโยชน์ในพื้นที่ การรวบรวมชนเติร์กเป็นรัฐใหญ่ย่อมทำให้ชนเติร์กเข้มแข็งขึ้น นี่คือจุดมุ่งหมายแรกของออสมันที่ยอมแลกแม้กระทั่งชีวิตของน้องชายบิดาวิสัยทัศน์สำคัญของออสมันอีกเรื่องหนึ่งคือการสร้างผลประโยชน์ร่วมกับชนกลุ่มอื่นที่มิใช่เติร์กและมิใช่มุสลิม ส่งผลให้การขยายดินแดนเข้าไปในพื้นที่ของไบแซนไทน์และครูเสดเป็นไปได้สะดวกขึ้น ออสมันรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิมที่หลบหนีการตามล่าของมองโกลทั้งยังประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาร่วมกับราชวงศ์มัมลุกที่ปกครองอียิปต์เวลานั้นในการร่วมกันขับไล่มองโกล ความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้ชนเติร์กเผ่าต่างๆเข้าร่วมกับออสมันมากขึ้น กระทั่งไม่เพียงสร้างรัฐของชนเติร์กขึ้นได้อีกครั้งยังเป็นรัฐที่มีความรู้สึกร่วมของความเป็นชนชาติเดียวกันลดความแตกต่างของความเป็นชนเผ่าลงได้ในที่สุด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *