เหตุผลที่หลายชาติมุสลิมและชาติกำลังพัฒนาสร้างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้

ช่วงคริสตศตวรรษที่ 17-19 ชาติยุโรปผ่านยุคมืดเข้ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการสู่ยุครุ่งเรืองทางปัญญาต่างพัฒนาตนเองเป็นชาติอุตสาหกรรมออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลกทำเอาสังคมชาติยุคเก่าในเอเชีย อเมริกากลางและใต้ อัฟริกาพากันแตกตื่นเร่งพัฒนาสังคมตามชาติยุโรปกันยกใหญ่ หลายชาติส่งคนไปเรียนรู้ในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทว่ากลับไม่สามารถพัฒนาชาติตนเองให้เป็นชาติก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ (Advanced nations in science) ได้ซึ่งต่างจากชาติที่มีรากเหง้าจากยุโรปอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น“เอกเมเลดดิน อิซานโนลู” (#Ekmeleddin Ihsanoglu) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวตุรกีอดีตเลขาธิการโอไอซี (#OIC) ซึ่งมีสมาชิกชาติมุสลิมมากถึง 57 ประเทศเขียนไว้น่าสนใจ มีหลายเหตุผลที่ใช้อธิบายความล้มเหลวดังกล่าว อิซานโนลูสรุปว่าเหตุผลสำคัญคือ “#วัฒนธรรมการเรียนรู้” (#Learning culture) จะเรียกว่าปรัชญาการเรียนรู้ก็ไม่ผิด นักวิชาการจากชาติกำลังพัฒนาได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledges) จนหมด ทว่า #ขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัยและการซักถาม (#Research and Inquiry) การตั้งคำถามเพื่อค้นคว้าวิจัยต่อยอดคือหัวใจของการถ่ายทอดมิใช่เพียงเฉพาะองค์ความรู้ การพัฒนาการคิดวิเคราะห์ การซักถาม การวิจัยเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องใหญ่ อิซานโนลูสรุปว่าชาติกำลังพัฒนารวมไปถึงชาติมุสลิมสมาชิกโอไอซีจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างคนให้กล้าคิดกล้าถาม ให้เป็นนักคิดวิเคราะห์ นักวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ไม่ใช่ลอกเลียนองค์ความรู้เดิม ทำได้อย่างนั้นจึงพัฒนาชาติตนเองให้เป็นชาติก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ คำตอบของอิซานโนลูคล้ายคลึงกับ “ทิม โอนีล” (Tim O’neill) นักประวัติศาสตร์ด้านยุคกลางชาวออสเตรเลียใช้ตอบต่อคำถามที่ว่าเหตุใดโลกอิสลามจึงถดถอยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งที่ยุคหนึ่งเมื่อพันปีมาแล้วโลกอิสลามคือผู้นำด้านวิทยาศาสตร์กระทั่งเป็นผู้ปลุกให้ชาติยุโรปตื่นจากการหลับใหลในยุคกลางก้าวเข้าสู่ยุคใหม่เสียด้วยซ้ำโอนีลตอบว่าสาเหตุที่โลกอิสลามถดถอยด้านวิทยาศาสตร์กระทั่งไม่สามารถพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าได้เป็นผลจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เดิมโลกอิสลามในยุคอับบาสิยะฮฺ (ค.ศ.751-1258) มีระบบการเรียนรู้ที่เน้นวัฒนธรรม “#อิจติฮาด” (الاجتهاد Ijtihad) ขยันหมั่นเพียร ทุ่มเท เสียสละ สามารถพัฒนาคนด้านตะฮฺฆีฆ (تحقيق) กล้าคิดกล้าถาม ตัฆยีร (تغيير Taqyir) เปลี่ยนแปลง ตัฟกีร (تفكير Tafkir) คิดวิเคราะห์ทว่าโลกอิสลามยุคหลังเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็น #ตัฆลีด (تقليد Taqlid) เลียนแบบและเชื่อฟัง ขาดการถาม คิดวิเคราะห์ นำโลกอิสลามถอยกลับสู่แนวคิดพื้นฐานขาดการพัฒนาอันเคยเป็นหัวใจการเรียนรู้ในอิสลาม นักประวัติศาสตร์สองคนจะให้คำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ นักวิชาการในชาติกำลังพัฒนาและชาติมุสลิมต้องช่วยกันนำไปคิดวิเคราะห์และวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทั่งตามทันและแซงหน้าชาติพัฒนาไปได้ จำเป็นต้องกล้าคิดกล้าฝันกันให้ไกลถึงอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *