ขึ้นฉ่ายกับเซอเลอรี่และความดันโลหิตสูง

เมื่อครั้งยังเรียนหนังสือบวกทำงานอยู่ในต่างประเทศ เมื่อนานเกินสามสิบปีมาแล้ว ฟังเรื่องสมุนไพรรักษาโรคอยู่บ่อย เอาเป็นว่าคนตะวันตกสนใจประโยชน์จากพืชผักค่อนข้างมาก ครั้งหนึ่งเคยได้ฟังเรื่องความมหัศจรรย์ของเซอเลอรี (Celery) ซึ่งคนไทยในต่างประเทศเวลานั้นเรียกกันว่าผักชีฝรั่ง เป็นเรื่องของเซอเลอรี่กับสรรพคุณในการลดความดันโลหิต ได้ฟังครั้งแรกยังแปลกใจเพราะไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไรเพื่อนคนไทยบอกว่าเซอเลอรี่ช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้ หากอยู่เมืองไทยอาจหาเซอเลอรี่ได้ยากสักหน่อยก็ให้ใช้ขึ้นฉ่ายแก้ขัดไปก่อน คนที่แนะนำเขาว่าอย่างนั้น สุดท้ายจึงรู้ว่าคนที่นำเรื่องนี้มาบอกกล่าวเป็นคนไทยเรียนจบปริญญาเอกจากชิคาโกในสหรัฐอเมริกาก่อนมาใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมัน ข่าวเพิ่มเติมด้วยว่าคนไทยจากชิคาโกคนนี้แนะนำว่าเซอเลอรี หากได้กินสดๆวันละหนึ่งต้นเป็นประจำจะทำให้คนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ความดันจะค่อยๆลดลงมาจนเป็นปกติได้อย่างน่าอัศจรรย์ มีเพื่อนคนไทยลองกับตนเองมาแล้วปรากฏว่าได้ผลเพื่อนแนะนำต่อด้วยว่าแม้เวลานั้นเซอเลอรีปลูกในเมืองไทยได้แล้ว แต่ยังสู้เซอเลอรีนำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้เพราะเซอเฃอรีจากต่างประเทศมีไฟโตนิวเทรียนท์ที่ช่วยลดความดันในปริมาณที่สูงกว่า ฟังข่าวเรื่องนี้แล้วอีกนานเป็นปีจึงพบว่าบุคคลที่พบข้อดีของเซอเลอรี่ เป็นเพราะได้ความรู้มาจากคนเอเชียเรื่องขึ้นฉ่ายนี่เอง คนเอเชียรู้จักประโยชน์ของขึ้นฉ่ายมานานเป็นพันปีมีในบันทึกการแพทย์แผนจีนและเวียตนาม เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าศาสตราจารย์ทางเภสัชคลินิกอเมริกันคนหนึ่งชื่อ “วิลเลียม เอลเลียต” (William Elliot) ทำงานสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกมีลูกศิษย์ปริญญาเอกเป็นคนเวียตนามชื่อ “กวงเล” (Quang T.Le) ลูกศิษย์คนนี้เล่าให้ศาสตราจารย์ฟังว่าคุณปู่ที่เป็นคนเวียตนามมีปัญหาความดันโลหิตสูงได้กินขึ้นฉ่ายเป็นประจำ ความดันโลหิตจึงลดลง ฟังแล้วศาสตราจารย์ให้ความสนใจกับขึ้นฉ่ายจึงเริ่มทำการทดลองพบว่าขึ้นฉ่ายช่วยลดความดันโลหิตสูงได้จริงศาสตราจารย์เอลเลียตลองนำเอาขึ้นฉ่ายมาสกัดจึงพบว่าในขึ้นฉ่ายมีสารไฟโตนิวเทรียนท์ชื่อ 3-n-butylphtalide ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosine hydroxylase ทำให้การสร้างฮอร์โมนสร้างความเครียดที่ชื่อว่า catecholamines ลดลง ความดันโลหิตจึงลดลง ในสหรัฐอเมริกา ขึ้นฉ่ายหาได้ไม่ง่ายนัก สุดท้ายศาสตราจารย์เอลเลียตจึงแนะนำให้กินเซอเลอรี่แทน กลับกลายเป็นว่าคนอเมริกันแนะนำให้คนเอเชียกินเซอเลอรี่หากไม่มีเซอเลอรี่ให้ใช้ขึ้นฉ่ายไปพลางก่อน ทั้งๆที่เรื่องจริงมันน่าจะกลับกัน นี่คือปัญหาของการไม่ทำวิจัยกับพืชผักสมุนไพรในแผ่นดินของตนเองซึ่งเป็นปัญหาที่พบอยู่บ่อยๆในบ้านเรา #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ขึ้นฉ่ายกับความดันโลหิตสูง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *