การถือศีลอดที่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์

เดือนนี้คือเดือนรอมฎอน มุสลิมถือศีลอดตลอดทั้งเดือน หากเริ่มนับกันในยุคสมัยนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อิสลามย่อมไม่ใช่ศาสนาแรกที่ถือศีลอด อัลกุรอานบอกไว้ในบทอัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 183 ด้วยว่ามีชนกลุ่มอื่นถือศีลอดมาก่อนหน้ามุสลิมแล้ว สำทับไว้ด้วยว่าอัลลอฮฺ (ศุบฯ) ทรงกำหนดให้ชนเหล่านั้นถือศีลอด เป็นการบอกใบ้ว่าอันที่จริงอิสลามเริ่มมาก่อนยุคนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) แล้ว คำถามมีว่าการถือศีลอดเริ่มกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่การอดอาหารเป็นกระบวนการหนึ่งในพิธีกรรมของหลายกลุ่มศาสนา ทั้งพุทธ พราห์มณ์ ฮินดู ซิกข์ มีการถือศีลอดอาหารทั้งนั้น กลุ่มเดียวที่ถือว่าการอดอาหารเป็นบาปคือโซโรเอสเตอร์หรือกลุ่มลัทธิบูชาไฟ นอกนั้นมีการอดอาหารเพื่อสร้างสมาธิหรือเพื่อเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าเป็นองค์ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาทั้งสิ้น ในส่วนของอิสลามหากนับย้อนหลังกลับไปก่อนยุคนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เรื่องราวการถือศีลอดอาหารย้อนหลังไปได้ถึง 5,000 ปีล่วงมาแล้ว โดยเริ่มเมื่อครั้งนบีนุฮฺ (อ.ล.) นำเรือที่หลบภัยจากน้ำท่วมใหญ่ขึ้นไปจอดบนยอดเขาญูดียฺตามที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน ฮูด 11:44 วันนั้นคือวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม บันทึกในคัมภีร์ของชาวยิวระบุว่านบีนุฮฺ (อ.ล.) หรือโนอาฮฺ (Noah) ได้ถือศีลอดอาหารในวันนั้น ผ่านมากระทั่งเมื่อ 4,000 ปีที่ผ่านมาในยุคสมัยของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) มีบันทึกเรื่องราวการถือศีลอดของท่านนบี โดยมีหะดิษบันทึกไว้ว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวถึงการถือศีลอดของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ว่าเป็นรูปแบบที่มุสลิมยึดถือกันในภายหลัง วันเวลาผ่านมาจนเมื่อ 3,500 ปีล่วงมาแล้ว มีเรื่องราวการถือศีลอดอาหาร 40 วันสองช่วงของนบีมูซา (อ.ล.) หรือโมเสสก่อนขึ้นเขาซีนาย โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอมมีบันทึกถึงการถือศีลอดอาหารของนบีมูซา (อ.ล.) และชาวยิวก่อนข้ามทะเลแดง จนถึงยุคนบีอีซา (อ.ล.) หรือพระเยซู (Jesus) ท่านถือศีลอดอาหาร 40 วันในทะเลทรายก่อนเข้าเมืองเพื่อเผยแผ่ศาสนา การถือศีลอดอาหารนี้เองที่ชาวคริสต์บางส่วนนำมาปฏิบัติในพิธีเข้าสู่ธรรมหรือมหาพรตช่วงอีสเตอร์หรือปัสกา ผ่านมากระทั่งถึงยุคนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นนบี ท่านถือศีลตะฮันนุธ (Tahunnuth) ผสมผสานระหว่างการถือศีลอดอาหารกับการทำสมาธิในถ้ำหิรออฺ มักกะฮฺในเดือนรอมฎอนจนกระทั่งทุกวันนี้ มุสลิมถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน หากปฏิบัติกันตามแบบอย่างท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ท่านยังถือศีลอดเพิ่มเติมเกือบทั้งเดือนในเดือนชะอฺบาน ถือศีลอดทุกวันจันทร์ พฤหัสบดีในเดือนอื่นๆ ทั้งแนะนำให้ถือศีลอดสองวันในวันที่ 9 และ 10 เดือนมุฮัรรอม ถือศีลอดในวันที่ 9 เดือนซุลฮิจยะฮฺสำหรับคนที่มิได้ไปประกอบพิธีฮัจญฺ ในส่วนหลังแม้มีบันทึกไม่ชัดเจนนักแต่มุสลิมจำนวนไม่น้อยพากันถือศีลอดตามข้อแนะนำที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ให้ไว้ เพราะรู้ว่าการถือศีลอดให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #การถือศีลอด, #เดือนรอมฎอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *