จริงไหมที่ว่าดื่มกาแฟมากแล้วกระดูกผุ

ใครที่สนใจเรื่องราวของอาหารและโภชนาการคงต้องยอมรับว่าวิชาการด้านนี้บ่อยครั้งมีความเชื่อผิดๆปนมาด้วย ความเชื่อเหล่านี้ส่งผลทั้งด้านบวกและลบในเชิงธุรกิจให้กับอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด ลองดูเรื่องราวเชิงบวกที่เกี่ยวกับน้ำแร่ก็คงเห็น น้ำแร่ชื่อดังบางยี่ห้อมีเรื่องราวความลึกลับปนอยู่ด้วย บางเรื่องกล่าวถึงชัยชนะของกองทัพโรมันเมื่อเกินสองพันปีมาแล้วจากการดื่มน้ำแร่ในบางพื้นที่ แถมด้วยเรื่องราวเชิงบวกของพืชสมุนไพรบางชนิดกับสุขภาพที่แต่งแต้มไปด้วยเรื่องราวความลึกลับเป็นตุเป็นตะ ในเมื่อผู้คนจำนวนไม่น้อยชอบเรื่องเล่าหรือตำนานมากกว่าเรื่องจริง เรื่องลึกลับลักษณะนี้จึงไม่เคยห่างหายไปไหน ลองดูเรื่องราวเชิงลบกันบ้างนั่นคือความเชื่อที่ว่า #ดื่มกาแฟมากแล้วทำให้กระดูกผุ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไรคำอธิบายที่พยายามนำเสนอกันออกมาเป็นต้นว่า #สารกาเฟอีน (#Caffeine) ที่มีในกาแฟสามารถชะแคลเซียมออกจากกระดูกได้ บางรายงานกล่าวว่าทุก 100 มิลลิกรัมของกาเฟอีนที่บริโภคจะทำให้กระดูกสูญเสียมวลไป 6 มิลลิกรัม บางรายงานช่วยแก้ตัวให้สารกาเฟอีนโดยอธิบายว่าปัญหาที่เกิดกับมวลกระดูกไม่ได้เป็นผลมาจากกาเฟอีนในกาแฟหรอกแต่เป็นโปรตีนในนมที่ผสมลงไปในกาแฟต่างหาก โดยกาแฟใส่นมทำให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนเข้าไปในเลือด ทำให้ความเป็นกรดของเลือดเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงจำเป็นต้องดึงแคลเซียมในเลือดไปสร้างความเป็นด่างเพื่อลดปัญหาของกรดนำไปสู่การสลายแคลเซียมออกจากมวลกระดูก ว่ากันเข้าไปนั่น ข้อเท็จจริงในเรื่องสารกาเฟอีนกับกระดูกเป็นอย่างไร ดร.โรเบิร์ต พี ฮีนนี (R.P.Heaney) นักวิชาการด้านพิษวิทยาเคมีอาหารแห่ง Creighton University รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาในลักษณะทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยด้านความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างกาเฟอีนกับแคลเซียมในนมและสุขภาพของกระดูกตีพิมพ์ในวารสาร Food Chem Toxicol ค.ศ.2002 ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้คือผู้ที่นิยมดื่มกาแฟและมี #ปัญหาสุขภาพกระดูก คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะบริโภคแคลเซียมต่ำอยู่แล้ว ซึ่งรู้ๆกันอยู่ว่าคนจำนวนมากบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอนำไปสู่ปัญหากระดูกพรุน คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งนิยมบริโภคกาแฟ ทว่าการดื่มกาแฟไม่ได้ทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม แต่เป็นเพราะคนเหล่านี้บริโภคแคลเซียมไม่เพียงพออยู่แล้วต่างหากที่ว่าการบริโภคโปรตีนในนมที่ผสมลงไปในกาแฟมากเกินไปทำให้ร่างกายชะแคลเซียมจากกระดูก ข้อมูลลักษณะนี้ยังไม่มีรายงานวิจัยใดยืนยัน ความเชื่อทั้งหมดเป็นผลมาจากรายงานวิจัยเชิงประชากรกลุ่มใหญ่ (Cohort study) ที่บังเอิญไปพบว่าคนที่รักการดื่มกาแฟจำนวนไม่น้อยมีปัญหากระดูกพรุน ความพยายามอธิบายกลไกนี่เองที่นำสู่การสร้างประเด็นต่างๆในเรื่องโปรตีนปริมาณสูงในนมบ้าง ประเด็นของสารกาเฟอีนจากกาแฟไปลดการดูดซึมแคลเซียมบ้าง โดยมองข้ามการบริโภคแคลเซียมจากอาหารน้อยเกินไป การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายๆโดยการเสริมแคลเซียมให้มากพอจากอาหารหรือจากผลิตภัณฑ์ คำตอบที่ถูกต้องอยู่ตรงนั้น ดร.ฮีนนีทุบโต๊ะสรุปเปรี้ยงเข้าให้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *