ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 18

ชนชาวเติร์กในลักษณะชนเผ่าสร้างรัฐเล็กๆขึ้นในหลายพื้นที่ของเอเชียกลาง ทั้งสามารถสร้างจักรวรรดิใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางขึ้นอย่างน้อยสองครั้งคือ “#เซลจุก” (#Seljuk ค.ศ.1037-1194) และ “#ออตโตมัน” (Ottoman ค.ศ.1299-1922) หรือ “อุสมานียะฮฺ” จักรวรรดิเซลจุกอายุสั้นเพียงศตวรรษครึ่ง ขณะที่อุสมานียะฮฺมีอายุยาวนานกว่า 6 ศตวรรษ ทั้งสองจักรวรรดิเกี่ยวข้องกันโดยต่างเป็น #ชนเผ่าเติร์กเชื้อสายโอกุซ (#Okhuz) อพยพย้ายถิ่นจากเอเชียกลาง โดยอุสมานียะฮฺเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในคาบสมุทรอะนาโตเลีย จักรวรรดิเซลจุกที่อยู่ในเปอร์เซียก่อนพ่ายแพ้แก่อาณาจักรฆาราคิตัยและฆาราฆานิดกระทั่งล่มสลายใน ค.ศ.1194 ได้แบ่งพื้นที่สร้างรัฐสุลต่านแห่งรุม (Sultanate of Rum ค.ศ.1077-1308) ขึ้นในอะนาโตเลียคำว่า “รุม” (Rum) เป็นภาษาอาหรับหมายถึงโรมันเนื่องจากสร้างอาณาจักรในพื้นที่เดิมของไบแซนไทน์ กระทั่ง ค.ศ.1243 รัฐสุลต่านพ่ายแพ้ต่อมองโกลสายอิลคาเนต (Ilkhanate) กลายเป็นรัฐอารักขาของมองโกล ถึง ค.ศ.1308 รัฐสุลต่านแห่งรุมขัดแย้งกันเองกระทั่งล่มสลายลง โดยก่อนหน้านั้นอุสมาน (Othman ค.ศ.1258-1326) นำชนเติร์กแตกตนเองออกมาเป็นรัฐอิสระสร้างจักรวรรดิอุสมานียะฮฺระยะต้นขึ้นได้สำเร็จใน ค.ศ.1299#จักรวรรดิเซลจุก สร้างใน ค.ศ.1037 โดยสองพี่น้อง “ตูริลเบก” (Tughril Beg ค.ศ.990–1063) และ “ชารีเบก” (Chaghri Beg ค.ศ.989–1060) ใช้ชื่อปู่คือเซลจุกเบกเป็นชื่อจักรวรรดิเช่นเดียวกับมุอาวียะฮฺ (ค.ศ.602-680) ที่ใช้ชื่อปู่คืออุมัยยะฮฺ อิบนฺ ฆาลัฟเป็นชื่อ #ราชวงศ์อุมัยยะฮฺ (#Umayyad ค.ศ.661-750 และ 756-1031) เรื่องราวของจักรวรรดิเซลจุกเริ่มต้นจากผู้ปู่ซึ่งเป็นนักรบของรัฐข่านเติร์กเล็กๆชื่อโอกุซยาบู (Okhuz-Yabhu) แถบเอเชียกลางระหว่างทะเลสาปแคสเปียนกับทะเลอะรัลนำทหารม้าและครอบครัวรวม 500 คนแยกเผ่าอพยพลงใต้ตามวิสัยของชนเติร์กเร่ร่อนและพร้อมใจกันเข้ารับอิสลามในเวลาต่อมาเผ่าเซลจุกเข้าเป็นทหารรับจ้างให้กับอาณาจักรซามานิดของราชวงศ์เปอร์เซียซึ่งเป็นมุสลิมสุนหนี่รบกับอาณาจักรเติร์กฆาราฆานิด (Qara Khanid) ทว่าพ่ายแพ้ จึงกลายไปเป็นนักรบให้กับฆาราฆานิด สร้างชื่อเสียงความเป็นนักรบกระทั่งสามารถรวบรวมชนเผ่าเติร์กสร้างกองทัพเอาชนะทั้งฆาราฆานิดและฆาสนาวิดสร้างจักรวรรดิเซลจุกขึ้นได้สำเร็จใน ค.ศ.1037 ปกครองพื้นที่เปอร์เซียตอนกลางขึ้นไปจนถึงเอเชียกลางการเรียนรู้วัฒนธรรมการปกครองของอาณาจักรซามานิดที่เป็นเปอร์เซีย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งอารยธรรมเปอร์เซียมุสลิมสายสุนหนี่ทำให้ชนเติร์กเซลจุกแปลงสภาพตนเองจากชนเร่ร่อนไปเป็นอารยชนที่สร้างวัฒนธรรมการบริหารจัดการบ้านเมืองของตนเองขึ้นกลายเป็นรากฐานให้กับจักรวรรดิเซลจุกปกครองชนเผ่าเติร์กจำนวนมากมายที่จำนวนไม่น้อยยังคงสภาพของชนเร่ร่อน ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยแปลงสภาพไปทำการค้า ชนเติร์กทั้งสองส่วนนี้เองที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างจักรวรรดิอุสมานียะฮฺในเวลาต่อมา #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *