ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 19

ความขัดแย้งระหว่างสองนิกายใหญ่ในอิสลามคือ #สุนหนี่กับชีอะอฺ มีมาตั้งแต่ยุคสี่คอลีฟะฮฺอัรรอซิดูนในศตวรรษที่ 7 ถึงต้นศตวรรษที่ 10 ชีอะอฺสายอิสมาอีลลีสร้าง #ราชวงศ์ฟาติมิด (Fatimid dynasty) ปกครองอียิปต์ได้สำเร็จโดยตั้งรัฐคอลีฟะฮฺขึ้นมาแข่งบารมีกับรัฐคอลีฟะฮฺของอับบาสิยะฮฺที่แบกแดดซึ่งเวลานั้นอ่อนแรงลงมาก เป็นผลให้ใน ค.ศ.934 บูยิด (Buyid) ครอบครัวขุนนางเดิมสมัยซัสซานิดตั้ง #ราชวงศ์บูยิด ขึ้นในเปอร์เซียท้าทายอำนาจคอลีฟะฮฺในแบกแดด กระทั่ง ค.ศ.945 บูยิดเข้ายึดอิรักบีบบังคับให้คอลีฟะฮฺในแบกแดดลดอำนาจทางการเมืองลงทำหน้าที่เพียงผู้นำทางศาสนากลายเป็นหุ่นเชิดให้กับบูยิดไปในที่สุด ความอ่อนแอของอับบาสิยะฮฺส่งผลให้อำนาจของ #เซลจุกและ#ฆาสนาวิด ทางตะวันออกของเปอร์เซียขยายตัวขึ้น ถึง ค.ศ.1029 บูยิดในเปอร์เซียถูกทำลายลงโดยฆาสนาวิด จากนั้นใน ค.ศ.1055 บูยิดในแบกแดดถูกปลดออกด้วยฝีมือของเซลจุก คืนอำนาจแก่อับบาสิยะฮฺไปในที่สุด ระหว่างที่ราชวงศ์บูยิดเรืองอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างฟาติมิดแห่งอียิปต์กับบูยิดแน่นแฟ้นขึ้น เพิ่มความขัดแย้งระหว่างอับบาสิยะฮฺกับฟาติมิดให้มีมากขึ้น เซลจุกที่ประสงค์จะหาดินแดนทางใต้ให้กับชาวเติร์กจึงเกิดความคิดที่จะล้มราชวงศ์ฟาติมิดในไคโรลง ทว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอะนาโตเลียเป็นผลให้เซลจุกเปลี่ยนเป้าหมายจากอียิปต์ไปสู่อะนาโตเลียก่อนและระหว่างที่เซลจุกมีอำนาจในอิรักและเปอร์เซีย ชาวเติร์กจากเอเชียกลางจำนวนมากหลั่งไหลลงทางใต้ ดินแดนทางตะวันออกของอะนาโตเลียคราคร่ำไปด้วยค่ายของชาวเติร์กที่เข้ามาทำการค้าและเลี้ยงปศุสัตว์ ความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีมากขึ้นระหว่างชุมชนเติร์กกับชุมชนกรีกเจ้าของพื้นที่เดิมเป็นผลให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ส่งทหารกว่า 40,000 นายเข้าพื้นที่ เซลจุกในอิรักเวลานั้นส่งทหาร 20,000 นายเข้าปกป้องชุมชนเติร์กนำไปสู่สงครามแห่งมานซิเกิร์ต (Manzikert) ทางตะวันออกของอะนาโตเลียใน ค.ศ.1071 แม้มีกำลังพลน้อยกว่า ทว่าเชี่ยวชาญการรบมากกว่า อีกทั้งยังมีทหารรับจ้างชาวเติร์กกว่า 4,000 นายแปรพักตร์ออกจากทัพไบแซนไทน์ ส่งผลให้กองทัพเซลจุกได้รับชัยชนะเด็ดขาด ถึงขนาดจับตัวจักรพรรดิไบแซนไทน์ได้ ความที่เปอร์เซียตะวันออกพื้นที่หลักของเซลจุกกับอะนาโตเลียมีเทือกเขาใหญ่ขวางกั้น การเดินทางติดต่อกันยากลำบาก หลังการศึกที่มานซิเกิร์ต เมื่อเซลจุกถอนทัพกลับ เหล่าขุนศึกเติร์กในอะนาโตเลียจึงร่วมกันสร้าง #รัฐสุลต่านแห่งรุม (#Sultanate of Rum) ให้ขึ้นกับเซลจุกแต่มีนโยบายขยายดินแดนอย่างอิสระกระทั่งครอบครองแทบทั้งอะนาโตเลีย เข้าศตวรรษที่ 13 จักรวรรดิมองโกล (Mongol empire) โดยรัฐข่านอิลคาเนต (Ilkhanate) ขยายอำนาจลงมาในอะนาโตเลีย เข้า ค.ศ.1243 รัฐสุลต่านแห่งรุมพ่ายแพ้กลายเป็นรัฐอารักขาของมองโกลไปในที่สุด ส่งผลให้ใน ค.ศ.1299 อุสมาน เบ (Osman Bey) บุตรของเออทุรุล (Ertugrul) ผู้นำเติร์กเผ่าคายีรวบรวมชาวเติร์กในอะนาโตเลียสร้างจักรวรรดิใหม่คือ #อุสมานียะฮฺ หรือ #ออตโตมาน ขึ้น อีกไม่นานนัก ค.ศ.1308 รัฐสุลต่านแห่งรุมแตกสลายลง เข้า ค.ศ.1335 รัฐข่านอิลคาเนตเสื่อมอำนาจตาม จึงไม่มีอำนาจใดที่จะหยุดยั้งการเติบโตของจักรวรรดิเติร์กอุสมานียะฮฺได้อีกแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *