ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 57

ในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) แม้อุสมานียะฮฺที่เป็นพันธมิตรร่วมรบอยู่ข้างเยอรมนี ออสเตรียฮังการีและบุลกาเรียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทว่าในหลายศึกของมหาสงคราม อุสมานียะฮฺกลับได้ชัยชนะยิ่งใหญ่ ดังเช่นศึกแห่งกัลลิโพลี (Gallipoli) ค.ศ.1915-1916 ซึ่งจักรวรรดิมีชัยต่อจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสที่ขนกำลังกว่า 489,000 นายเข้ารบขณะที่อุสมานียะฮฺมีกำลังพลน้อยกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่า ทั้งสองฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก ชัยชนะของอุสมานียะฮฺสร้างรอยด่างในหน้าประวัติศาสตร์ให้กับเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการนาวีเวลานั้นที่เป็นเจ้าของแนวคิดบุกกัลลิโพลีที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อีกศึกหนึ่งคือการศึกแห่งกุตอัลอะมารา (Kut al-Amara) ในอิรัก ค.ศ.1915-1916 ครั้งนั้นทัพอังกฤษที่มีกำลังพล 4 หมื่นนายต้องยอมจำนนต่ออุสมานียะฮฺที่มีกำลังพลเพียง 3.2 หมื่นนาย โดยอุสมานียะฮฺสูญเสียกำลังพลเพียงหมื่นนายขณะที่อังกฤษสูญเสียมากถึง 2.3 หมื่นนายส่วนที่เหลือตกเป็นเชลยทั้งหมดสร้างความอับอายอย่างยิ่งต่ออังกฤษ นักประวัติศาสตร์ชี้ว่านี่คือความพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดของอังกฤษ ชัยชนะของอุสมานียะฮฺหลายครั้งส่งผลให้อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและกรีซขยาดที่จะบุกยึดดินแดนอะนาโตเลียและพื้นที่ในยุโรปซึ่งเป็นส่วนที่เหลือของสาธารณรัฐตุรกีที่กำเนิดขึ้นใหม่ ตุรกียังคงรบโดยไม่ยอมแบ่งประเทศให้กับประเทศผู้ชนะตามสนธิสัญญาที่ทำกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ความกล้าได้กล้าเสียดังกล่าวช่วยรักษาตุรกีไว้ได้จนทุกวันนี้ สาธารณรัฐตุรกีปัจจุบันบริหารโดยรัฐบาลพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party หรือ AKP) นำโดยประธานาธิบดีเรเซบ ตอยยิบ เออร์โดอัน (Resep Tayyib Erdogan) ที่เน้นความเป็นอิสลามมากขึ้นทั้งยังใฝ่ฝันที่จะนำตุรกีกลับมาเป็นมหาอำนาจเช่นครั้งจักรวรรดิอุสมานียะฮฺ พรรคยึดนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาลยุคจัดตั้งสาธารณรัฐที่มีอดีตผู้นำอย่างมุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) หรืออะตาเติร์ก (Ataturk) เป็นผู้นำที่แยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด ยกเลิกการใช้อักษรอาหรับ ลดบทบาทของฝ่ายศาสนา เปลี่ยนคนตุรกีเป็นคนยุโรป ห้ามสตรีผ้าคลุมฮิญาบในมหาวิทยาลัยและสถานที่ราชการ เปลี่ยนแปลงทุกระบบโดยหวังให้ตุรกีที่กำเนิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก้าวขึ้นเป็นชาติพัฒนาวันเวลาผ่านมาร้อยปี ตุรกียังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาก้าวตามไม่ทันชาติในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ทั้งยังเกิดรัฐประหารหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือความพยายามรัฐประหารรัฐบาลพรรคเอเคพีใน ค.ศ.2016 ซึ่งไม่สำเร็จนำไปสู่การทำลายล้างอำนาจของฝ่ายทหารครั้งใหญ่ รัฐบาลเอเคพีเห็นว่าความผิดพลาดของอดีตผู้นำอย่างมุสตาฟา เคมาล ซึ่งสร้างระบบเซคิวลาร์กำจัดแนวทางอิสลามออกไปแทนที่จะปรับปรุงให้ทันสมัยไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ศึกกัลลิโพลีซึ่งสร้างชื่อมากมายให้มุสตาฟา เคมาล ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติตุรกีแต่เป็นชัยชนะในศึกแห่งกุตอัลอะมาราที่นักประวัติศาสตร์ทั้งโลกยกย่องมากกว่า การเมืองในตุรกียิ่งวันก็ยิ่งมีเสน่ห์ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *