ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 58

ช่วงเดือนเมษายน 2016 ตุรกีโดยประธานาธิบดีเออร์โออันจัดพิธีฉลองร้อยปีแห่งชัยชนะยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺต่อจักรวรรดิอังกฤษในการรบที่กุตอัลอะมาราในอิรัก ค.ศ.1916 ประกาศด้วยว่านี่คือความภาคภูมิใจของชาติตุรกี นักประวัติศาสตร์แม้ในโลกตะวันตกเองยังยอมรับว่าการศึกในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งนั้นคือความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของจักรวรรดิอังกฤษ คงเพราะอย่างนี้เองที่ชาติตะวันตกจึงไม่มีใครกล่าวถึงศึกแห่งกุตอัลอะมาราเลย คนยุคหลังไม่มีใครที่รู้จัก เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครกล่าวถึงความพ่ายแพ้ในเกมการเมืองของอังกฤษและฝรั่งเศสต่อประเทศเล็กๆอย่างสยามช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีแต่บันทึกที่เฉไฉไปว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งยกให้สยามเป็นรัฐกันชน (Buffer state) นั่นเป็นเรื่องของการแก้เกี้ยว เรื่องจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นในเมื่อไม่มีใครรู้จักศึกแห่งกุตอัลอะมาราในที่นี้จึงอยากเขียนถึงสักหน่อย ย้อนกลับไปตอนต้น ค.ศ.1915 ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนักระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียฝ่ายหนึ่งกับเยอรมนี ออสเตรียฮังการี บุลกาเรีย และอุสมานียะฮฺอีกฝ่ายหนึ่ง อังกฤษและฝรั่งเศสเห็นว่าหากไม่เปิดทะเลดำให้ทัพเรือรัสเซียออกมายังเมดิเตอร์เรเนียน สงครามคงยืดเยื้อออกไปอีกนาน การยึดกัลลิโพลีและดาร์ดะเนลล์ย่อมทำให้อุสมานียะฮฺพ่ายแพ้เพื่อล้อมฝ่ายเยอรมนีไว้ ทว่าเอาเข้าจริง ถึงปลายปี 1915 การศึกแห่งกัลลิโพลีฝ่ายอังกฤษฝรั่งเศสกลับเพลี่ยงพล้ำขนาดหนัก จำเป็นต้องเปิดแนวรบที่สองเพื่อกดดันอุสมานียะฮฺ ดินแดนเมโสโปเตเมียจึงถูกเลือก และกุตอัลอะมาราในอิรักคือพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะฉุดให้อุสมานียะฮฺยอมจำนนในสงครามปลาย ค.ศ.1915 อังกฤษส่งทัพบกจำนวน 4 หมื่นนายที่อยู่ในอิรักอยู่แล้วเข้ายึดกุตอัลอะมาราใกล้แบกแดดไว้ อุสมานียะฮฺส่งกองทัพจำนวน 3.2 หมื่นนายรับศึก การรบจบสิ้นในวันที่ 29 เมษายน 1916 ทัพอังกฤษถูกสลาย กำลังพล 13,309 กลายเป็นเชลยในจำนวนนี้มีนายทหาร 476 นายกับนายพล 6 นาย ความพยายามที่จะกดดันอุสมานียะฮฺในแนวรบที่สองกลับกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของอังกฤษในทั้งสองศึก กองทัพของอังกฤษและฝรั่งเศสต้องถอนตัวอย่างทุลักทุเลจากดาร์ดะเนลล์ตามมาด้วยอังกฤษยอมแพ้ที่กุตอัลอะมารา ความพ่ายแพ้ของฝ่ายอังกฤษเช่นนี้เองที่ในเวลาต่อมาช่วยรักษาประเทศตุรกีที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังไว้ฮีโร่ของอุสมานียะฮฺที่ควรรู้จักคนแรกคือมุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ในศึกกัลลิโพลี อีกคนคือสุลัยมาน อัสเกอรี (Sulayman Askeri) ในศึกตะวันออกกลาง ฮีโร่ผู้นี้สุดท้ายทำอัตวินิบาตกรรมจากความพ่ายแพ้ยกแรก ฮีโร่อีกคนคือคาลิลปาชา (Khalil Pasha) ซึ่งนำการรบในศึกแห่งกุตอัลอะมารา กระทั่งได้ชัยชนะทั้งๆที่เสียเปรียบมาตลอด เป็นการชิงไหวชิงพลิบที่ฝ่ายอังกฤษเองยังยอมรับในสติปัญญาของคนเติร์กที่พลิกความเสียเปรียบมาเป็นความได้เปรียบ ทุกวันนี้คนเติร์กรุ่นใหม่กำลังใช้สติปัญญาลักษณะเดียวกันเพื่อเอาชนะชาติตะวันตกและรัสเซีย เรื่องอย่างนี้จึงต้องเอาใจช่วยกันหน่อย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *