เหตุใดฟรุคโตสในน้ำเชื่อมจึงสร้างปัญหาต่อสุขภาพ

ฟรุคโตส (fructose) เป็นน้ำตาลที่พบมากในผลไม้ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเมื่อกินในรูปผลไม้หรือน้ำคั้นผลไม้ที่มีกาก (ไม่ใช่น้ำผลไม้กล่อง) ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคในรูปผลไม้มักจำกัดด้วยปริมาณที่ไม่มากนัก ทั้งในผลไม้ยังมีสารอาหารอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟเบอร์ที่ช่วยชะลอหรือยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลไม่ให้ทะลักเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป นอกจากนี้ในผลไม้ยังมีวิตามินไม่น้อย มีเกลือแร่พอสมควร อีกทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือไฟโตนิวเทรียนท์มากมายหลายชนิด สารอาหารเหล่านี้ช่วยชดเชยผลเสียบางประการที่เกิดจากน้ำตาลในผลไม้ได้อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผลไม้ก็ยังแนะนำให้บริโภคผลไม้ให้ได้รับน้ำตาลแต่พอเหมาะในทุกรูปแบบเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี อย่าเผลอบริโภคผลไม้มากจนเกินไป เลี่ยงผลไม้รสหวานจัดที่มีใยอาหารต่ำ ทั้งหมดนั้นว่าด้วยฟรุคโตสจากผลไม้ ยังมีฟรุคโตสอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพอย่างมากนั่นคือฟรุคโตสในรูปของน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุคโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ที่นิยมใช้ในทางอุตสาหกรรมอาหารรวมถึงฟรุคโตสจากน้ำตาลทราย (table sugar) สองประเภทนี้ก่อผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสมองได้จากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าผลทางเมตาบอลิซึม ฟรุคโตสสูงอาจก่อภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้การสะสมไขมันในตับเพิ่มขึ้น ทั้งก่ออาการทางเมตาบอลิซึมที่เชื่อมโยงให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ รวมถึงโรคอ้วนและเบาหวานประเภทสอง ฟรุคโตสประเภทนี้กระตุ้นความอยากอาหารและการรับประทานอาหารมากเกินไป ยิ่งกินยิ่งอยากอาหาร ปัญหาของน้ำตาลฟรุคโตสคือมันไม่กระตุ้นการผลิตอินซูลินหรือการหลั่งเลปติน (ฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร) จึงส่งผลให้กินมากเกินไปกระทั่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อสมอง การบริโภคฟรุคโตสมากเกินไปอาจนำไปสู่การดื้อต่ออินซูลินและเลปตินในสมอง ส่งผลต่อการทำงานของการรับรู้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการบริโภคฟรุคโตสในปริมาณสูงอาจสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของการรับรู้และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางระบบประสาทและสมอง ต้องระวังกันให้มากหน่อยนอกจากนี้ การบริโภคฟรุคโตสสูงอาจรบกวนสมดุลของฮอร์โมน ทำให้เกิดภาวหยุดชะงักของฮอร์โมน (hormone disruption) โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหารและการเผาผลาญ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอ้วนและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ลองดูเอาเถอะ คนอ้วนทั้งหลายส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหารหวานมากเกินไปแทบทั้งนั้น อีกปัญหาหนึ่งที่น่าห่วงคือสุขภาพตับ ฟรุคโตสที่มากเกินไปจะถูกเผาผลาญในตับเป็นหลัก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคไขมันพอกตับ (fatty liver) ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease หรือ NAFLD) ซึ่งก่อความเสียหายต่อตับสรุปคือหากไม่อยากมีปัญหาโรคอ้วน เบาหวานประเภทที่สอง โรคตับรวมไปถึงโรคทางสมอง ขอให้เลี่ยงน้ำตาลจากน้ำเชื่อมฟรุคโตสและน้ำตาลทราย บริโภคฟรุคโตสไม่มากเกินไปจากผลไม้สดหรือน้ำคั้นผลไม้ที่มีกาก เลี่ยงน้ำผลไม้กล่อง พยายามปฏิบัติให้ได้ก็แล้วกัน #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ฟรุกโตส, #ฟรุคโตส, #น้ำเชื่อมฟรุกโตส, #โรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *