เหตุการณ์สำคัญของโลกอิสลามที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน

ชนอาหรับเป็นกลุ่มชนที่ให้ความสำคัญกับการบันทึก นั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าเหตุใดอิสลามจึงจุติในโลกอาหรับ วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการบันทึกเช่นนี้ภายหลังถูกซึมซับสู่ส่วนต่างๆของโลกมุสลิมไม่ว่าจะเป็นอัฟริกาเหนือ ไอบีเรีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีรอมฎอน ลองพิเคราะห์กันว่าโลกอิสลามบันทึกเรื่องราวสำคัญอะไรไว้ นับเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนก็แล้วกันบันทึกเหตุการณ์สำคัญในรอมฎอนมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกเป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์มองว่ามีอิทธิพลสูงเชิงจิตวิญญาณ ส่วนที่สองคือสงครามใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพมุสลิมกับฝ่ายตรงข้ามโดยชัยชนะตกเป็นของกองทัพมุสลิมที่แม้เริ่มต้นด้วยความเสียเปรียบ โดยเลือกสงครามที่มีผลกระทบต่อประวัติศาสตร์โลกเท่านั้นเริ่มที่ 3 เหตุการณ์เชิงจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ได้แก่ (1) อัลกุรอาน โดยการลงมาของ 5 อายะฮฺแรกของบรรดา 6,236 อายะฮฺ เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนที่ถ้ำหิรออฺ เมืองมักกะฮฺ ค.ศ.610 (2) ลัยละตุลก็อดรฺ ค่ำคืนที่ให้พลังเท่ากับหรือมากกว่าหนึ่งพันเดือนหรือ 83 ปี 3 เดือน ซึ่งอิสลามกำหนดไว้ในรอมฎอน (3) ปีแห่งความโศกเศร้า (year of sorrows) เกิดขึ้นใน ค.ศ.619 หรือปีที่ 10 หลังการได้รับแต่งตั้งเป็นนบีของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) โดยท่านนบีสูญเสียบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของท่านคือท่านหญิงคอฎียะฮฺ ภรรยาของท่านในเดือนรอมฎอน จากนั้นไม่นานท่านสูญเสียอบูฏอลิบ ลุงที่อุปถัมภ์ท่านมาตลอด ความโศกเศร้าปีนั้นได้สร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกอิสลาม เริ่มต้นจากการทำสนธิสัญญาอะกอบะฮฺทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้นในพิธีฮัจญฺยุคก่อนอิสลาม ณ หุบเขามีนา ต่อมาคือการฮิจเราะฮฺครั้งแรกที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.622 อีก 7 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในรอมฎอน เป็นเรื่องของการศึกสงครามที่เปลี่ยนความเสียเปรียบให้เป็นชัยชนะของมุสลิม ได้แก่ (1) สงครามบะดัร ใน เดือนถือศีลอดแรกในอิสลาม ค.ศ.624 เมื่อท่านนบีต้องสู้ศึกกับกองทัพของมักกะฮฺที่มีกำลังพลมากกว่าสามเท่า (2) ชัยชนะต่อมักกะฮฺ ใน ค.ศ.630 เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่มีการรบ หลังจากสนธิสัญญาฮุดัยบียะฮฺถูกละเมิด ท่านนบีนำฮุจญาดที่เดินทางมาทำอุมเราะฮฺในเดือนรอมฎอนเข้ายึดมักกะฮฺแม้ขาดอาวุธและความพร้อม กองทัพมักกะฮฺพลาดเมื่อประเมินว่ามุสลิมอ่อนแอในเดือนรอมฎอน (3) การศึกที่ยัรมูก (Battle of Yarmouk) จอร์แดน รอมฎอน ค.ศ.636 ทัพมุสลิมนำโดยคอลิด อิบนฺ อัลวาลิด และอะบูอุบัยดะฮฺ นำทัพ 15,000 นายได้ชัยชนะต่อกองทัพโรมันไบแซนไทน์จำนวน 150,000 นาย อิสลามเข้าครอบครองพื้นที่ของโรมันและซัสซานิดในตะวันออกกลาง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับเดือนรอมฎอน (4) การศึกที่กัวดาลีต (Battle of Guadalete) ไอบีเรีย ยุโรป เดือนรอมฎอน ค.ศ.711 โดยทัพของมุสลิมอุมัยยะฮฺ (อาหรับ-อะมาซิก) ได้ชัยชนะต่อทัพวิสิกอธของโรมัน แม้มีกำลังพลน้อยกว่ามาก เป็นผลให้มุสลิมเข้าปกครองสเปนนานถึง 781 ปีหลังจากนั้น (5) การศึกที่ฮัตติน (Battle of Hattin) ปาเลสไตน์ ค.ศ.1187 นับเป็นศึกตัดสินระหว่างการก้าวขึ้นของชนยุโรปกับการฟื้นตัวของมุสลิมในมือของชนกลุ่มอื่นนอกชนอาหรับ เป็นการศึกระหว่างมุสลิมนำทัพโดยสุลต่านศอลาฮุดดีน อัลอัยยูบี มุสลิมเคิร์ดกับทัพยุโรปครูเสดที่ยึดครองเยรูซาเล็มไว้ ทัพมุสลิมมีกำลังพลน้อยกว่าทว่ากลับได้ชัยชนะ หลังการศึกครั้งนั้นทัพครูเสดไม่เคยยึดครองเยรูซาเล็มได้อีกเลย (6) การศึกที่อัยนฺจาลุต (Ain Jalut) รอมฎอน ค.ศ.1260 เมื่อกองทัพมองโกลทำลายจักรวรรดิอิสลามอับบาสิยะฮฺที่แบกแดดสำเร็จใน ค.ศ.1258 และดามัสกัสใน ค.ศ.1259 เป้าหมายต่อมาคือการกวาดล้างมุสลิมเติร์ก-มัมลุกในอียิปต์ สงครามที่อัยนฺจาลุต ปาเลสไตน์ มุสลิมแม้มีอาวุธด้อยกว่าทว่าได้สร้างความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกแก่ทัพมองโกลนำไปสู่ความเสื่อมถอยของจักรวรรดิมองโกลนับแต่นั้น โลกอิสลามเริ่มยุคของการเปลี่ยนผ่านจากชนอาหรับ-เปอร์เซียไปสู่ชนเติร์ก-เคิร์ดอย่างเต็มรูปแบบ (7) การศึกที่ไซนาย อียิปต์ รอมฎอน ค.ศ.1973 การศึกครั้งแรกหลังอาหรับพ่ายแพ้ในสงครามหกวันต่อทัพอิสราเอล ค.ศ.1967 การศึกเริ่มที่ชัยชนะของกองทัพอียิปต์ก่อนที่กองทัพอเมริกันและอังกฤษจะเข้าสนับสนุนอิสราเอลนำไปสู่การเจรจาสงบศึก เดือนรอมฎอนเมื่อมุสลิมถือศีลอดตลอดเดือน ผู้มิใช่มุสลิมที่ขาดความเข้าใจในอิสลามมองว่ามุสลิมอ่อนแอลงและขาดความพร้อม บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นว่ามุสลิมเข้มแข็งขึ้น รอมฎอน ค.ศ.2024 ที่คาดว่าจะเริ่มในวันที่ 10 มีนาคม กองทัพไอโอเอฟ อิสราเอลประกาศล่วงหน้าว่าวันนั้นจะเริ่มกวาดล้างกำลังพลฮามาสครั้งสุดท้าย ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์นับล้านถอยหนีจากพื้นที่ต่างๆในแผ่นดินกาซ่าไปยังที่มั่นสุดท้ายคือด่านราฟาหรือรอฟะฮฺ (Rafah) ติดกับคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ด้อยทั้งกำลังพล อาวุธ ขาดแคลนทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ถึงขนาดนั้น ชาวปาเลสไตน์ยังถูกตามราวีจากหลายชาติมหาอำนาจ พวกเรานอกพื้นที่ได้แต่ขอดุอาอฺให้คนเหล่านี้มีแรงใจแรงศรัทธาในการสู้ศึก ให้ได้รับพลังใจจากอดีต พวกเราช่วยได้มากที่สุดเพียงเท่านั้นในโลกที่ความเป็นธรรมจากมนุษย์ด้วยกันสูญสิ้นไปหมดแล้ว#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #สงครามในรอมฎอน, #สงครามในอิสลาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *