อิบาดะฮฺกับสุขภาพ รายการวิถีรอมฎอนปีที่ 10

รอมฎอน ศ.ศ.1445 ปีนี้เริ่มประมาณวันที่ 10 มีนาคม 2567 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) จัดรายการ “วิถีรอมฎอน” ทางสถานีโทรทัศน์ช่วงก่อนเช้าเวลารับประทานอาหารสะฮูรทุกปี โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 10 ความที่งบประมาณบริหารร่อยหรอลงมาก นับแต่ พ.ศ.2563 เป็นต้นมา งบประมาณจากราชการเหลือให้จับจ่ายเพียงร้อยละ 16 จากที่เคยได้รับในอดีตเท่านั้น จำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายลง ศวฮ.ยุบสำนักงานไปหนึ่งแห่ง ลดบุคลากรไปกว่าครึ่ง รายการเพื่อสังคมถูกตัดถูกลด เฉียดฉิวไปก็คือรายการวิถีรอมฎอนนี่แหละระหว่างตัดสินใจว่าจะคงรายการทีวีวิถีรอมฎอนไว้หรือไม่ ช่วงระบาดของโควิด-19 ผมไปรับประทานโจ๊กอยู่ที่ตลาดคลอง 16 นครนายก มีชาวบ้านหลายคนเข้ามาทักทายโดยชื่นชมรายการทีวีวิถีรอมฎอนให้ได้ฟัง นอกจากนี้ยังมีหลายครั้งที่ได้ยินคำชื่นชมทำนองนี้ หลังจากวันนั้นผมบอกกับทีมงานว่ารายการวิถีรอมฎอนให้ประโยชน์ต่อสาธารณชนมาก ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมเสียด้วยซ้ำ หลายคนที่มิใช่มุสลิมยังชื่นชมให้ได้ยินผ่านเข้ามา ทำนองว่าเป็นรายการที่มีสาระด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ได้ฟังแล้วชื่นใจ ทั้งเรตติ้งของรายการก็อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด อย่ากระนั้นเลย สู้อดทนกัดฟันทำงานเพื่อสาธารณชนจะดีกว่ารายการทีวีรอมฎอนปีนี้เริ่มวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2567 รายการส่วนของผมที่ทางทีมงานแบ่งมาให้ ผมกำหนดไว้ในหัวข้อ “อิบาดะฮฺกับสุขภาพ” ยาวทั้งสิ้น 13 ตอน ตอนละ 10 นาที คุยกันเรื่องศรัทธาในอิสลามกับผลดีต่อสุขภาพซึ่งยังมีการนำเสนอค่อนข้างน้อย ผมในฐานะนักวิทยาศาสตร์สุขภาพจับงานเรื่องนี้มานานจึงอยากนำเสนอให้ผู้ชมได้รับทราบสักหน่อย คำว่า “อิบาดะฮฺ” หรือพหุพจน์คืออิบาดาต หมายถึงการสักการะ การกราบไหว้ซึ่งอิสลามทำได้กับอัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น อิสลามเน้นความศรัทธาควบคู่ไปกับแนวทางปฏิบัติ อิบาดาต จึงแบ่งการปฏิบัติเป็น 5 ส่วน ได้แก่ การปฏิญาณตน (ชาฮาดะฮฺ) การละหมาด (ศอละฮฺ) การถือศีลอด (ศิยาม) การจ่ายทาน (ซะกาต) การแสวงบุญ ณ นครมักกะฮฺ (ฮัจญฺ) การปฏิบัติอิบาดะฮฺมิได้เป็นเพียงพิธีกรรม แม้อัลลอฮฺจะทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่าทรงให้กำเนิดญินและมนุษย์เพื่อสักการะต่อพระองค์ ทว่าเอาเข้าจริงอิบาดะฮฺทั้งหมดก็เพื่อสุขภาพและประโยชน์ของตัวมนุษย์เองทั้งสิ้น จึงขอนำประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม/สังคม และจิตวิญญาณ มาขยายให้พวกเราฟังช่วงที่พบกับผมทางรายการ โดยนำเสนอในทำนองวิทยาศาสตร์ฮาลาล นั่นคือผสมผสานงานศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับหลักบัญญัติอิสลามที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติอิบาดะฮฺแต่ละส่วน มีตั้งแต่การปฏิญาณตนที่ส่งผลต่อกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังว่าด้วยการละหมาด ถือศีลอด การจ่ายทาน รวมไปถึงการแสวงบุญ ส่วนไหนให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร ว่ากันเป็นตอนๆไป เชิญชวนพวกเราติดตามกันหน่อย#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #รายการวิถีรอมฎอน, #อิบาดะฮฺกับสุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *