อินสุลินกะกลางคืน

ใครจะไปเชื่อว่าการทำงานของฮอร์โมนอินสุลินแบ่งเป็นสองกะคล้ายกับ รปภ. มีกะกลางวันทำงานแบบหนึ่งกับกะกลางคืนทำงานอีกแบบหนึ่ง เป็นเพราะอย่างนี้เองนักโภชนาการจึงแนะนำว่าว่าไม่ควรกินอาหารก่อนนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกิน 4 ชั่วโมงก่อนนอนซึ่งทำให้ร่างกายสงวนพลังงานจากการย่อยไว้ พลังงานที่ถูกสงวนจะเปลี่ยนไปเป็นไขมันทำให้อ้วนง่ายนี่คือเหตุผลส่วนหนึ่ง ส่วนเหตุผลอื่นนักวิจัยอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.คาร์ล จอห์นสัน (Carl Johnson) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี อธิบายไว้ในวารสาร Current Biology ตีพิมพ์ตอนต้น ค.ศ. 2013 ดร.จอห์นสันศึกษาในหนูทดลองได้ผลสรุปออกมาว่าเวลากินอาหาร ร่างกายจะหลั่งอินสุลินเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นการดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อสลายเป็นพลังงานในรูปอะเซติลโคเอ สารตัวนี้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปสร้างงาน อีกส่วนหนึ่งนำไปสะสม ทั้งสองส่วนเป็นผลมาจากการทำงานของอินสุลิน การกินกลางวันหรือกินกลางคืน สารอาหารกระตุ้นอินสุลินเหมือนกัน แต่อินสุลินตัวเดียวกันนี้กลับทำให้การกินกลางวันกับกลางคืนไม่เหมือนกัน อินสุลินกระตุ้นการสร้างพลังงานและกระตุ้นการนำพลังงานไปใช้ ส่วนหนึ่งนำไปสร้างงานอีกส่วนนำไปเก็บสะสม ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงนี้เองนั่นคืออินสุลินหากทำงานในเวลากลางวันมันจะเหนี่ยวนำให้พลังงานถูกนำไปใช้ในการทำงานมากกว่าการถูกนำไปสะสม แต่หากทำงานในเวลากลางคืนกลับกลายเป็นว่ามันจะเหนี่ยวนำให้นำพลังงานไปสะสมเป็นไขมันมากกว่าการนำไปใช้งาน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นผลมาจากนาฬิกาชีวิตหรือ biological clock ในร่างกายซึ่งกำหนดการทำงานของสารหลายชนิดในร่างกายรวมทั้งฮอร์โมนอินสุลินด้วยนาฬิกาชีวิตฝังตัวอยู่ที่จุด Supraoptic nucleus หรือ SON ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนไฮโปธาลามัส โดยส่วนนี้มีเซลล์ประสาทประมาณ 3 พันเซลล์ จุดนี้เองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของนาฬิกาชีวิต มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดทำให้การทำงานของฮอร์โมนในช่วงเวลาต่างๆของวันแตกต่างกัน การกินอาหารผิดเวลาย่อมส่งผลให้นาฬิกาชีวิตส่งอิทธิพลต่อการทำงานของอินสุลินเป็นไปเช่นที่บอกไว้ ใครไม่เคยรู้ #อินสุลินทำงานแบบมีกะเช่นเดียวกับ รปภ. มีกะกลางวันและกลางคืนก็ควรจะรู้ไว้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *