อิดิลอัฎฮาที่ไม่แตกต่าง

วานนี้ 28 มิถุนายน 2566 ที่ทุ่งมีนา มักกะฮฺ คือวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะ เป็นวันที่พวกเราหลังจากเสร็จกิจกรรมวูกุฟตั้งจิตมั่นในวันอะรอฟะฮฺที่เนินเขาอะรอฟะฮฺ กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่หุบเขามีนานี้ ในอดีตยุคก่อนอิสลาม มีการเชือดสัตว์พลีจึงเรียกวันที่ 10 นี้ว่าวันกุรบาน หลังจากนั้นใช้เวลา 2-3 วันคือวันที่ 11-12 หรือ 11-13 ทำการตากเนื้อกุรบานเพื่อนำไปแจกจ่ายที่ภูมิลำเนาตนเองเรียกว่าวันตัชรีก มาถึงยุคอิสลามยังคงยึดถือประเพณีที่ดีนี้ไว้ โดยด้านนอกมีนาและทั่วโลกทำการเฉลิมฉลองความสำเร็จของฮัจญฺในวันที่ 10 ซุลฮิจญะเรียกว่าวันอิดิลอัฎฮา แต่ก่อนบ้านเรา มีการถกเถียงกันบ้าง เรื่องออกอีดหรือวันตรุษพร้อมซาอุหรือหลังซาอุเนื่องจากกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะไม่ตรงกัน เวลานี้ฝ่ายมุฟฏีหรือผู้นำทางศาสนาของซาอุมีคำตัดสินออกมาว่าแต่ละประเทศกำหนดวันที่ 1 ตามการเห็นหิลาลหรือจันทร์เสี้ยวในประเทศตนเองปีนี้ พ.ศ.2566 วันที่ 10 ซุลฮิจญะที่เขตมีนาของมักกะฮฺ คือวันพุธที่ 28 มิถุนายน ส่วนประเทศไทยคือวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน ซึ่งไม่ตรงกัน ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้หลายปีมาแล้วเนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นระยะ ผมสรุปไปในครั้งนั้นว่าในทางดาราศาสตร์ยังนับเป็นวันเดียวกันได้เนื่องจากวัน (day) และวันที่ (date) เป็นสิ่งสมมุติที่มนุษย์กำหนดขึ้น หากนับวันตามโลกตะวันตกที่กำหนดเส้นแวง 0 องศาอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก วันของประเทศไทยที่นับเป็นวันเดียวกันย่อมเริ่มต้นก่อนซาอุดีอาระเบีย 4 ชั่วโมง หากโลกอิสลามสามัคคีกันกำหนดใหม่ว่าเส้นแวง 0 องศาซึ่งเป็นเส้นสมมุติตั้งอยู่ที่นครมักกะฮฺ ในวันเดียวกันนี้ ประเทศไทยจะมีเวลาตามหลังซาอุดีอาระเบีย 20 ชั่วโมง เมื่อไม่ต่างกันเกิน 24 ชั่วโมงสามารถถือเป็นวันเดียวกันได้ ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวเช่นนี้ในอดีตเมื่อโลกอิสลามมีความก้าวหน้ามากทางด้านดาราศาสตร์เหนือโลกตะวันตก ประเด็นนี้ไม่เคยเป็นปัญหาหลายปีมาแล้ว ชาวศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลยกทีมไปเยี่ยมเยือนมัสยิดใหญ่ในเมืองสะมาคาน ประเทศอุซเบกิสถาน ตรงข้ามมัสยิดแห่งนี้ในพื้นที่จัตุรัสเรจิสถาน (Registan) คือโรงเรียนใหญ่ที่เรียกว่ามักตับ นักเรียนโรงเรียนนี้ปลายศตวรรษที่ 14 หรือเมื่อหกร้อยปีมาแล้วเรียนดาราศาสตร์ควบคู่กับชารีอะฮฺ มีการกำหนดวันเริ่มต้นเดือนอาหรับด้วยการดูจันทร์เสี้ยวเปรียบเทียบกับการคำนวณทางดาราศาสตร์ ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ขึ้นกับสภาพท้องฟ้า แต่ไม่เป็นปัญหา บางเมืองมีหอดูดาว หลายเมืองไม่มี จึงกำหนดให้ใช้การดูด้วยตาเป็นหลัก วันเริ่มต้นเดือนประนีประนอมกันไปได้ในที่สุด วันอิดิลอัฎฮา ฮ.ศ.1444 ประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียสำหรับผมจึงมีวันตรงกัน ขึ้นกับว่าจะนับว่าประเทศไทยเร็วกว่าซาอุดีอาระเบีย 4 ชั่วโมงหรือช้ากว่า 20 ชั่วโมง ไม่มีอะไรซีเรียส อย่างที่บอกคือวันกับวันที่เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้น อย่าไปทำให้หลักการของอัลลอฮฺ ศุบฮาฯ เบี่ยงเบนไป ก็เท่านั้น ขณะนีผมอยู่ที่มีนาของมักกะฮฺ ในวาระอิดิลอัฎฮาปีนี้ ขอดุอาอฺให้พวกเราทุกคนประสบริสกี มีสุขภาพที่ดีตลอดไป กรรมใดที่ก้าวล่วงขอมาอัฟ ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อิดิลอัฎฮา, #iduladha,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *