อาหารฐานพืช (Plant-based diet) เสริมสุขภาพหัวใจช่วยยืดอายุ

“อาหารฐานพืช” (Plant-based diet) หมายถึงอาหารที่ใช้วัตถุดิบทั้งหมดจากพืช ความหมายคล้ายคลึงกับ “อาหารมังสะวิรัติ” (Vegetarian diet) ที่หมายถึงอาหารที่ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เจือปน จะว่าเป็นอาหารมังสะวิรัติกลุ่มหนึ่งก็คงไม่ผิด สิ่งที่แตกต่างคืออาหารฐานพืชเลียนแบบอาหารปกติที่มีทั้งพืชและสัตว์ (omnivores diet) โดยตกแต่ง รส กลิ่น สี ให้คล้ายคลึงอาหารจากพืชและสัตว์ รู้กันอยู่ว่าการไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้ผลดีต่อสุขภาพ เพียงแต่ผลการศึกษายังให้ข้อมูลไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังมีผลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเกี่ยวข้องในงานการศึกษา หากต้องการให้ได้ผลดีและถูกต้องในงานวิจัยประโยชน์ของอาหารฐานพืช งานวิจัยควรใช้อาสาสมัครที่เป็นฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน (identical twin) ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีพันธุกรรมเหมือนกัน ได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน อาสาสมัครลักษณะนี้จึงนับเป็นกลุ่มประชากรที่ดีที่สุด เหตุนี้เองทีมวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จึงทำการศึกษาผลของโภชนาการสองแบบคือมังสะวิรัติหรืออาหารฐานพืชเปรียบเทียบกับอาหารที่มีทั้งพืชและเนื้อสัตว์ โดยศึกษาในกลุ่มประชากรที่เป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน นำผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open ปลายเดือนพฤศจิกายน 2023 อาสาสมัครที่ใช้ในการศึกษาเป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกันจำนวน 22 คู่ แบ่งฝาแฝดแต่ละคู่ออกเป็นสองกลุ่ม ทำให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดู จากนั้นศึกษาผลของโภชนาการที่ให้กับอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มนี้นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มแรกได้รับอาหารฐานพืชที่ให้โภชนาการครบถ้วน มีทั้งผัก ผลไม้ ธัญพืช กลุ่มที่สองเป็นอาหารปกติหรือมีทั้งพืชและสัตว์โดยมีเนื้อสัตว์จากสัตว์ปีก เนื้อสัตว์บก ไข่ นม เนยแข็ง เป็นองค์ประกอบ อาหารทั้งสองกลุ่มมีพลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันเท่ากัน โดยลดน้ำตาลและแป้งขัดสีสูงลง ทั้งสองกลุ่มจึงได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีและครบถ้วนในเชิงโภชนาการการศึกษาได้ผลว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารฐานพืช มีระดับคอเลสเตอรอลในแอลดีแอล (LDL-C) ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารปกติอย่างมีนัยสำคัญหมายถึงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดดีกว่า มีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่ากัน 20% หมายถึงความเสี่ยงต่อเบาหวานและโรคอ้วนน้อยกว่า ทั้งมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีกว่า อีกทั้งยังคาดด้วยว่าเทโลเมียร์ของโครโมโซม (Chromosomal telomeres) มีความยาวมากกว่าหมายถึงกลุ่มที่บริโภคอาหารฐานพืชหรือมังสะวิรัติจะมีอายุยืนกว่า ทีมวิจัยจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากขึ้นหันมาบริโภคมังสะวิรัติหรืออาหารฐานพืชมากขึ้นเพื่อให้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น สรุปออกมาอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #อาหารมังสะวิรัติ, #plantbased, #hearthealth

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *