ความเป็นมาของการเฉลิมฉลอง “วันปีใหม่” ในวันที่ 1 มกราคม

มีคำถามจากพวกเราถึงผมเป็นครั้งคราว เร็วๆนี้มีคำถามมาว่าการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินสากล เป็นประเพณีหรือพิธีกรรมในศาสนาคริสต์ใช่หรือไม่ หากใช่ การที่คนในศาสนาอื่นเข้าไปร่วมเฉลิมฉลองจะผิดหลักการในศาสนาของตนเองหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมุสลิม ก่อนจะตอบ เราควรเข้าใจก่อนว่าการนับวันเวลาเป็นสิ่งสมมุติ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยเป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณแล้ว การกำหนดวันปีใหม่สากลให้เป็นไปตามปฏิทินสุริยคติคือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เรื่องนี้เริ่มโดยชาวโรมันมานานนับพันปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้น ชนโบราณ ทั้งบาบิโลน จีน อินเดีย กำหนดวันปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติมาก่อนชาวโรมันเสียด้วยซ้ำ โดยกำหนดไว้ว่าวันขึ้นปีใหม่คือวันเริ่มต้นการเพาะปลูกซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม ชาวจีนกำหนดวันตรุษจีนไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ชาวอินเดียกำหนดวันสงกรานต์ในเดือนเมษายน ส่วนชาวบาบิโลนเฉลิมฉลองวันเริ่มเพาะปลูกในเดือนมีนาคม กระทั่งถึงปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมันเห็นว่าช่วงฤดูหนาวคือเดือนธันวาคมถึงมกราคม อากาศหนาวเหน็บ บรรยากาศหดหู่ ผู้คนซึมเศร้า ว้าเหว่ จึงย้ายวันปีใหม่จากช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่สดใสไปเป็นฤดูหนาวเพื่อให้ผู้คนในจักรวรรดิได้รื่นเริงกันบ้าง การกำหนดวันปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคมจึงเริ่มต้นในปีนั้น วันปีใหม่จึงเกิดขึ้นก่อนการมาของคริสต์ศาสนา การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในบางชุมชนอาจมีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาปนบ้าง แต่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์อย่างแน่นอน ชนคริสต์ในจักรวรรดิโรมันกว่าจะยอมรับให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ.313 แล้ว เหตุที่ก่อนหน้านั้นไม่ยอมรับก็เนื่องจากเห็นว่าการฉลองปีใหม่เป็นกิจกรรมของคนนอกศาสนา ต่อเมื่อเข้าใจได้ว่าวันเวลาคือความเป็นสากลไม่เกี่ยวข้องกับศาสนานั่นแหละจึงยอมรับ นอกจากนี้ชาวคริสต์ในแต่ละนิกายยังเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ไม่ตรงกัน ที่น่าสังเกตคือไม่มีชนกลุ่มใดยึดถือว่าวันปีใหม่เป็นวันสำคัญทางศาสนา การเฉลิมฉลองจะเป็นไปในลักษณะใด เอาศาสนามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ให้ขึ้นกับแต่ละสังคมเป็นสำคัญในประเทศมุสลิมปัจจุบัน การนับถอยหลังหรือเคาท์ดาวน์ตอนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม มีให้เห็นอยู่บ้างเช่นที่อาคารทวินทาวเวอร์ในกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียหรืออาคารเบิร์จคาลิฟาของดูไบ ยูเออี และในอีกหลายประเทศมุสลิม นั่นเป็นเพราะวันปีใหม่ไม่ใช่การเฉลิมฉลองทางศาสนา ส่วนประเด็นที่มีมุสลิมบางคนเข้าใจว่าวันที่ 1 มกราคม เกี่ยวข้องกับการสูญเสียกรานาดาหรือฆัรนาเฎาะฮฺของจักรวรรดิมุสลิมให้แก่จักรวรรดิคริสต์ในสเปน เหตุการณ์นั้นเกิดในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1492 ไม่เกี่ยวข้องกับวันปีใหม่ ที่อธิบายมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะแนะนำให้มุสลิมฉลองวันปีใหม่ สังคมมุสลิมมีวันเฉลิมฉลองอยู่แล้วคือวันอิดิลอัฎฮาและอิดิลฟิตริ การเฉลิมฉลองกันสุดเหวี่ยงเลียนแบบคนอื่นในวันอื่นคงไม่เหมาะ ส่วนใครจะฉลองคงไม่มีใครตำหนิ#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #วันปีใหม่, #1มกราคม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *