อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา กับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จฬ. ตอนที่ 1

เมื่อวานจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผมกับอาจารย์ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย (สมฮท.) พร้อมกับพรรคพวกจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จฬ.) เดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดี อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เพื่อเยี่ยม #อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ อ.วันนอร์ที่เข้ารับการผ่าตัดเมื่อ 6 วันก่อน และเตรียมตัวเดินทางกลับในวันอังคารคือวันนี้อ.วันนอร์อายุ 76 ปี เล่าให้ฟังว่าแพทย์ประจำตัวตรวจพบก้อนเนื้อในลำไส้เล็กที่ขยายตัวโตขึ้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม.จึงตัดสินใจผ่าตัดใหญ่เพื่อเอาก้อนเนื้อดังกล่าวออก พบภายหลังว่าเป็นเนื้องอกธรรมดามิใช่เนื้อร้าย เหตุที่ต้องผ่าตัดใหญ่เปิดหน้าท้องแทนที่จะผ่าตัดเล็กผ่านกล้องเนื่องจากบริเวณลำไส้ที่พบก้อนเนื้ออยู่ใกล้จุดเชื่อมต่อกับตับอ่อนและท่อน้ำดี เกรงจะไม่ปลอดภัย อ.วันนอร์จึงตัดสินใจรับการผ่าตัดใหญ่ ท่านบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก เจ็บตัวบ้างแต่ฟื้นตัวเร็ว พวกเราคุยกับ อ.วันนอร์ เห็นท่านคล้ายมานอนพักผ่อนเท่านั้นศวฮ.ผูกพันกับ อ.วันนอร์มากถึงขนาดตั้งชื่อหนึ่งในห้องปฏิบัติการสำคัญของศูนย์ฯว่า “#ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาฮาลาล วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ตัวท่านมาเป็นประธานเปิดด้วยตนเองพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและอธิการบดีเวลานั้น ศวฮ.เติบโตขึ้นจนทุกวันนี้มีพื้นที่ 4,288 ตารางเมตรในสี่สำนักงาน บุคลากร 80 คน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัยเกือบ 200 ชิ้น จุดเริ่มต้นมาจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาด 32 ตารางเมตร เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้นกับนักวิทยาศาสตร์หนึ่งคนคือตัวผมเอง ทำงานอย่างนั้นตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นใน พ.ศ.2538 โดยสร้างศาสตร์ใหม่ขึ้นมาชื่อ “#วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ทำงานเงียบๆมาสิบปี แล้วความเกี่ยวข้องกับ อ.วันนอร์ก็มาถึง ต้นปี พ.ศ.2545 รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) #ดร.พรชัย รุจิประภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่มี อ.วันนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ให้เลขานุการคือ #คุณสิริมา โต๊ะมีนา เชิญผมไปพบที่สำนักงานย่านมักกะสัน ท่านแจ้งว่าทางคณะกรรมการประสงค์จัดสร้างห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนงานการรับรองฮาลาลเห็นว่า จฬ.ดำเนินงานด้านนี้มานานจึงขอให้เขียนโครงการนำเสนอให้หน่อยทำงานร่วมกันมาได้ครึ่งปี คณะกรรมการเปลี่ยนเลขานุการจาก ดร.พรชัยมาเป็น #คุณสันติ บางอ้อ รองเลขาธิการสภาพัฒน์อีกท่านหนึ่ง นโยบายเปลี่ยนเป็นเปิดเสรีให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมเสนอโครงการด้วยข้อแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนงบประมาณไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่เสนอขอ สุดท้ายจึงเหลือ จฬ.แห่งเดียว ถึงปลาย พ.ศ. 2545 คุณสันติแจ้งผมว่างบประมาณที่เสนอโดยคณะกรรมการผ่านไปยังคณะรัฐมนตรี ส่วนของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลไม่ได้รับอนุมัติ ผ่านเฉพาะ สมฮท. กับนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ปัตตานีเท่านั้น พวกเราพากันผิดหวังแต่ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเสมอมิใช่หรือ ล้มแล้วต้องลุก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *