ยุคหลังโควิด-19 เริ่มด้วยการสร้างสังคมเคารพกฎหมาย

ความสำเร็จของประเทศไทย (อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลานี้) คือการชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 เราเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่มีผู้ป่วยโควิด-19 แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยมีไม่ถึง 3,500 ราย เสียชีวิตไม่ถึง 60 ราย สามารถยับยั้งการติดต่อของโรคภายในประเทศต่อเนื่องกันนานสองเดือน กระทั่งทั่วทั้งโลกยอมรับว่าประเทศไทยคืออันดับหนึ่งของการป้องกันโรคโควิด-19 แต่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ถกกันในหลายวงการว่าข้อเสียของคนไทยที่ทำให้เราพัฒนาไปไม่ได้มากเท่าที่หวังคืออะไร คำตอบคือ “#วินัย” คนไทยเป็นคนสบายๆจนกระทั่งไม่ให้ความสำคัญกับข้อกฎหมาย หากต้องการ #ปฏิรูปสังคม เริ่มต้นด้วย #การสร้างสิ่งแวดล้อมของสังคมเคารพกฎหมาย จึงน่าจะดีที่สุด เมื่อสิบปีมาแล้วมีงานวิจัยในสองมหาวิทยาลัยอเมริกัน ข้อมูลค่อนข้างน่าสนใจ เรื่องแรกเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนในการเลือกอาหารบริโภคโดยทางผู้วิจัยใช้วิธีให้การศึกษาแก่นักเรียนรวมถึงผู้ปกครองให้รู้จักการเลือกบริโภคอาหารอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงอาหารขยะ ทั้งผู้ปกครองทั้งครูช่วยกันอบรมสั่งสอนให้เด็กลดละเลิกการกินอาหารขยะให้ได้ อบรมต่อเนื่องกันตลอดปี ผลสรุปออกมาว่าหากในโรงเรียนและในเมืองยังเต็มไปด้วยอาหารขยะ เด็กแม้ได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องอาหารขยะก็ยังบริโภคอาหารขยะไม่เปลี่ยนแปลง สรุปว่าหากยังเปลี่ยนสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ก็ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้ดีขึ้นอีกเรื่องหนึ่งเป็นพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนในเมือง โดยประชาสัมพันธ์กันขนาดหนักให้ประชาชนรักการออกกำลังกายในขณะที่ในเมืองแทบไม่มีสวนสาธารณะหรือสถานที่ให้ชาวเมืองใช้ออกกำลังกายเลย ผลปรากฏว่าการโหมทำประชาสัมพันธ์ในขณะที่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ไม่ช่วยให้ประชาชนรักการออกกำลังกายได้เลย ในขณะที่อีกเมืองหนึ่งมีสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์การออกกำลังกาย มีสวนสาธารณะ มีสถานที่เอื้ออำนวยต่อการออกกำลังกาย แม้ไม่ทำประชาสัมพันธ์ ประชาชนกลับรักการออกกำลังกาย การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างค่านิยมที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญย้อนกลับมาดูในบ้านเรา สังคมเมืองใหญ่ในบ้านเรายังเต็มไปด้วย #การขับขี่ที่ละเมิดกฎหมาย#มอเตอร์ไซด์ย้อนศร ฝ่าไฟแดง ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับช้าชิดขวา ขึ้นสะพานที่ห้าม โดยตำรวจจราจรไม่กวดขัน ผู้คนชาชินกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรื่องที่เข้าใจว่าเล็กน้อยเหล่านี้ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้สังคมเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ดี #การสร้างสิ่งแวดล้อมของสังคมที่เคารพกฎหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องใดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง #ยุคหลังโควิด-19 อย่าปล่อยให้ประชาชนชาชินอยู่กับการละเมิดกฎหมาย หาไม่แล้วจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสกับการก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ #ยุคนิวนอร์มอล หากทำให้ผู้คนในสังคมตระหนักในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้เมื่อไหร่ ย่อมไม่ยากที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดีอื่นๆ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์จึงเป็น #จุดคานงัด หรือจุดที่ใช้พลังน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิด #สังคมปฏิรูป คิดจะเริ่มก็ควรเริ่มพร้อมกันในสังคมและควรเริ่มในวันนี้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *