“อะกอบะฮฺ” วันอิดิลอัฎฮา จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์อิสลาม

เรื่องราวของ “อะกอบะฮฺ” ติดค้างในใจผมมานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้พิธีฮัจญฺ ซึ่งในฮัจญฺ ฮ.ศ.1444 พ.ศ.2566 อีกไม่กี่วันนับจากนี้ผมต้องเดินทางไปเจดดะฮฺ ซาอุดีอาระเบีย เพื่อบรรยายเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่ออิสลาม ในงาน Grand Hajj Symposium 1444 A.H. วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2566 ตามหนังสือเชิญของกระทรวงฮัจญฺและอุมเราะฮฺ ซาอุดีอาระเบีย จากนั้นผมและภรรยาจะเป็นแขกของกระทรวงเข้าร่วมพิธีฮัจญฺที่นครมักกะฮฺ มีโอกาสโยนก้อนเล็ก 7 ก้อนที่เสาหินอะกอบะฮฺซึ่งในพิธีการโยนหินที่อะกอบะฮฺทำมากกว่าเสาหินอีกสองต้น ความแตกต่างนี้เองในอดีตก่อคำถามในใจของผมว่าเหตุใดเสาหินอะกอบะฮฺจึงสำคัญกว่าเสาหินสองต้นที่เหลือ เช่นนี้เองผมจึงรำลึกถึงอะกอบะฮฺขึ้นมาอีกครั้ง เรื่องราวของอะกอบะฮฺ ผมเขียนไว้ใน fb dr.winaidahlan วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2559 สองวันก่อนวันอิดิลอัฎฮา ฮ.ศ.1437 เห็นว่าเนื้อหายังทันสมัยจึงขอนำมาลงซ้ำอีกครั้ง วันอิดิลอัฎฮาในเชิงสัญญะมีความหมายต่อท่านศาสดาในอิสลามคือนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ศ็อลฯ) อย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน วันอิดิลอัฎฮาคือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามที่อยากนำมาเล่าในที่นี้ย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ.610 ถึง ค.ศ.619 ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เผยแผ่อิสลามในมักกะฮฺเมืองเกิดของท่านด้วยความยากลำบาก การจากไปของท่านหญิงคอดีญะฮฺผู้ภรรยา และท่านอบูฏอลิบ ผู้เป็นลุง ใน ค.ศ.619 ส่งผลให้การเผยแผ่อิสลามประสบอุปสรรคมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ท่านนบีจึงตัดสินใจเดินทางไปเผยแผ่อิสลามที่ฏออีฟเมืองบนภูเขาห่างจากมักกะฮฺไปทางใต้ร้อยกิโลเมตร ทว่าไม่สำเร็จยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นไปอีก ทำให้ท่านกลับมาเผยแผ่อิสลามอีกครั้งที่มักกะฮฺโดยครั้งหลังนี้ท่านเลือกเผยแผ่กับคนกลุ่มเล็กยามค่ำคืนในหุบเขามีนาช่วงจบพิธีฮัจญฺยุคก่อนอิสลามโดยใช้เวลาก่อนที่ทุกคนที่มุ่งหน้ามาจากทั่วคาบสมุทรอาระเบียจะพากันแยกย้ายกลับภูมิลำเนาโดยท่านใช้ยามค่ำของวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮฺเป็นวันปฏิบัติการ หากนับตามปฏิทินอาหรับตรงกับวันที่ 10 ซึ่งคือวันอิดิลอัฎฮาที่รู้จักกันในเวลานี้นี่เองฮัจญฺเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ทำกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม 2,500 ปีก่อนยุคท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พิธีกรรมตามรูปแบบของชนนอกศาสนาที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์ในยุคนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แม้ผิดเพี้ยนไปมากจากยุคนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) แต่การรวมตัวกันที่ทุ่งอารอฟะฮฺยามเที่ยงวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮฺที่ภายหลังเรียกว่า “วูกุฟ” ยังเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรม วันต่อมาคือวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ทุกคนกลับมารวมตัวกันที่หุบเขามีนาเพื่อทำการเชือดสัตว์หลังจากนั้นวันที่ 11, 12, 13 เป็นเวลาสามวันที่เรียกว่า “ตัชรีก” (Tashreeq) หมายถึงการตากให้แห้ง ในอดีตคือวันตากเนื้อที่เชือดในวันที่ 10 โดยตากสองวันบ้างสามวันบ้างก่อนแยกย้ายกันกลับคืนถิ่นของแต่ละคนวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ ค.ศ.621 ภายหลังกลับจากเมืองฏออีฟซึ่งตรงกับปีที่ 12 ของการเป็นศาสดา ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นัดพบชาวยาธริบ (มะดีนะฮฺ) 12 คนบนเนินเขาเล็กๆบริเวณหุบเขามีนา เนินเขานี้มีชื่อว่า “อะกอบะฮฺ” เพื่อเจรจากันกระทั่งเกิดเป็นคำสัญญาอัลอะกอบะฮฺครั้งที่ 1 ในปีต่อมาคือ ค.ศ.622 วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮฺ ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นัดพบชาวยาธริบจำนวน 75 คน โดย 5 คนคือคนที่พบกันในปีที่ผ่านมา การเจรจานำไปสู่คำสัญญาอัลอะกอบะฮฺครั้งที่ 2 เป็นผลให้ท่านนบีมั่นใจในการสนับสนุนของชาวยาธริบอันเป็นจุดเริ่มต้นของการฮิจเราะฮฺหรือการอพยพจากมักกะฮฺสู่ยาธริบของท่านนบีและท่านอบูบักร รอฎิยัลลอฮุอันฮฺ ที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น คำสัญญาอะกอบะฮฺจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามอย่างสิ้นเชิง อิสลามที่ถูกระรานมาตลอดในมักกะฮฺกลับเติบโตอย่างรวดเร็วในยาธริบ เป็นผลให้ยาธริบเปลี่ยนชื่อเป็นมะดีนะฮฺอัลมูเนาวาเราะฮฺไปในเวลานั้นวันเวลาผ่านไปกระทั่ง ค.ศ.632 ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นำมุสลิมกว่าเจ็ดหมื่นคนเดินทางจากมะดีนะฮฺมาทำฮัจญฺครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่าน โดยวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺหลังดวงอาทิตย์ตกซึ่งตรงกับวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.632 ท่านนบีนำบรรดาฮุจญาจหรือผู้แสวงบุญที่เสร็จสิ่นพิธีวูกุฟหลั่งไหลออกจากทุ่งอะรอฟะฮฺกลับมาที่หุบเขามีนาเริ่มด้วยการพักแรมที่ทุ่งมุสดาลีฟะฮฺ สิ่งแรกที่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ทำในเช้าวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺซึ่งตรงกับวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.632 คือการโยนหินเจ็ดก้อนที่เนินเขาอะกอบะฮฺสถานที่ที่ในอดีตก่อนหน้านั้นคือจุดกำเนิดคำสัญญาอะกอบะฮฺทั้งสองครั้งคล้ายเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของเนินเขาเล็กๆในหุบเขามีนาแห่งนี้ อะกอบะฮฺจึงเป็นสถานที่เชิงสัญญะสำหรับท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) หากไม่มีอะกอบะฮฺ ไม่รู้ว่าอิสลามจะเป็นอย่างไรอัลอะกอบะฮฺในพิธีฮัจญฺคือสถานที่ตั้งของเสาหินใหญ่ที่เรียกว่าเสาหินหน้าเดียวหรือ “ญุมรอตอัลอะกอบะฮฺ” (جمرة العقبة) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหินในพิธีขว้างเสาหิน สิ่งที่แตกต่างจากเสาหินอีกสองต้นคืออะกอบะฮฺเป็นเสาหินเดียวที่ฮุจญาตหรือผู้แสวงบุญขว้างหรือโยนหินเจ็ดก้อนยามเช้าวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ โดยไม่โยนหินที่เสาหินอีกสองต้น วันนี้เองคือวันที่มุสลิมทั่วโลกพากันเฉลิมฉลองวันตรุษที่เรียกกันว่าอิดิลอัฎฮาใครจะตั้งชื่อรองของอิดิลอัฎฮาว่าอย่างไร จะเรียกว่าวันกุรบาน หรือวันพลีกรรม ไม่เป็นปัญหา สำหรับผม วันอิดิลอัฎฮานอกจากฉลองพิธีฮัจญฺแล้วยังสำคัญในเชิงสัญญะว่าเป็นวันรำลึกถึง “อะกอบะฮฺ” อันเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นหิดายะฮฺหรือทางนำที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชี้ทางแก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อิดิลอัฎฮาจึงมีความสำคัญ ทำให้ได้รำลึกถึงเนินเขาเล็กๆในหุบเขามีนาที่ชื่อ “อะกอบะฮฺ” ที่แม้ในปัจจุบันความเป็นเนินเขาไม่หลงเหลืออยู่แล้วก็ไม่เป็นไร #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อะกอบะฮฺ, #อิดิลอัฎฮา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *