อย่าเข้าใจว่า “แพลนท์เบส” คือผลิตภัณฑ์จากพืชร้อยเปอร์เซ็นต์

ความนิยมอาหาร “แพลนท์เบส” (plant-based) ทุกวันนี้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แพลนท์เบสจึงเป็นอาหารแห่งอนาคต ยืนยันได้จากการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา มีการจัดประกวด APEC Future Food for Sustainability มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 2,018 ทีม คาดว่าเกินครึ่งคือเมนูอาหารแพลนท์เบส สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มองแพลนท์เบสคืออาหารแห่งอนาคต มั่นใจกันอย่างนั้น แพลนท์เบสแปลกันตรงตัวคือ “ฐานพืช” ชื่อบอกอยู่แล้วว่าใช้พืชเป็นหลัก ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทว่าแพลนท์เบสในท้องตลาดส่วนใหญ่คือ “ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์” ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ ไข่ ไก่ นม มีแม้กระทั่งปลา ปลาหมึก หอย ผู้คนในโลกยุคใหม่กังวลว่าการผลิตเนื้อสัตว์มีการเพาะเลี้ยง ทำฟาร์ม หรือหว่านมาจากทะเลหรือแหล่งน้ำ นำไปสู่การฆ่าสัตว์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นพืชให้หมด แพลนท์เบสจึงเป็นเรื่องของการดำรงศีลธรรม ไม่ฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ ทั้งยังเป็นเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำปศุสัตว์ก่อผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม มีการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ มีปัญหาของปฏิกูลสัตว์ มีการปลดปล่อยคาร์บอน อาหารแพลนท์เบสจึงเป็นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและศีลธรรมไปพร้อมๆกัน ถูกจริตคนรุ่นใหม่ เป็นอาหารแห่งอนาคต อะไรทำนองนั้น ทว่าคำถามมีว่าแพลนท์เบสคือมังสะวิรัติหรือวีแกน (vegan) ซึ่งไม่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องเลยจริงๆหรือ คำตอบคือไม่จริงไปเสียทั้งหมด ยังมีผลิตภัณฑ์ฐานสัตว์หรือ animal-based ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ฐานพืชเหล่านั้น เช่น คาร์มีน (carmine) ซึ่งเป็นสีจากแมลง เคซีน (casein) ซึ่งเป็นโปรตีนจากนมสัตว์ เจละติน (gelatin) ผลิตภัณฑ์จากหนังและกระดูกสัตว์ เวย์ (whey) ของเหลวจากนม ผลิตภัณฑ์แต่งสีกลิ่นรสจากธรรมชาติ (natural flavors) ที่ใช้สารสกัดจากสัตว์ และอีกสารพัด สารหลายชนิดผสมในกระบวนการทางอุตสาหกรรมอาหารปริมาณน้อย ระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยาของหลายประเทศอนุโลมว่าน้อยอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องระบุบนฉลากอาหาร ผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้นอกจากนี้ในกระบวนการเตรียมบางผลิตภัณฑ์มีการใช้เอนไซม์จากสัตว์ก่อนสกัดทิ้งออกไป ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหลายชนิดนำไปใช้เตรียมผลิตภัณฑ์แพลนท์เบส ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) รวบรวมสารเคมีได้ถึง 186 ชนิดที่ใช้เอนไซม์จากสัตว์ในกระบวนการผลิต อันที่จริงมีมากกว่านั้นมาก โดยศวฮ.จัดทำเป็นตาราง H-numbers ไว้ ดังนั้น จึงกล่าวไม่ได้ว่าแพลนท์เบสคือมังสะวิรัติหรือวีแกนร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครประพฤติตนเป็นมังสะวิรัติ เข้าใจและระวังเรื่องนี้กันไว้หน่อยก็ดี อนาคตจะได้มี100%แพลนท์เบสไว้บริโภค #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #plantbased, #vegan, #แพลนท์เบสไม่ปลอดผลิตภัณฑ์สัตว์เสมอไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *